เหตุสมควรโกรธ… ไม่มีในโลก
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
————————————-
ชีวิตคือทุกข์… ไม่มากก็น้อย
ชีวิตคนเราดูแล้วหลากหลายแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
ชีวิตของ เด็กเล็ก ๆ อายุ 3-4 ขวบ
ชีวิตของ คนเต่าคนแก่ อายุ 100 ปี
ชีวิตของ คนยากจน ขอทานข้างถนน
ชีวิตของ มหาเศรษฐี
ชีวิตของ คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ชีวิตของ คนจบปริญญาเอก
ชีวิตของ นักโทษประหาร
ชีวิตของ ผู้ได้รับเกียรติเป็นบุคคลตัวอย่าง
ชีวิตของ นักเลงพนัน
ชีวิตของ ผู้ดีในสังคม
แต่ดูลึก ๆ แล้ว ชีวิตเราก็พอ ๆ กัน
ในความรู้สึก สุข ทุกข์ ดีใจ พอใจ สุขใจ
โกรธ น้อยใจ เสียใจ กลัว ฯลฯ
ทุกข์ร้อน ทุกข์หนาว ทุกข์แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวก็มี แต่คนเราเกลียดทุกข์ กลัวทุกข์ พยายามหนีจากทุกข์ แสวงหาความสุขทั้งนั้น ตามสติปัญญาและความสามารถของแต่ละบุคคล หัวใจของมนุษย์ต่างก็เรียกร้อง “ความสุข ๆ ๆ” กันทุกคน แต่ที่เราหนีไม่พ้นจากทุกข์ เพราะพวกเราอยู่ในท่ามกลางไฟกันทั้งนั้น
ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ไฟ คือ โทสะ
ไฟ คือ โลภะ
ไฟ คือ โมหะ
เมื่อเราสามารถดับไฟได้ เมื่อนั้นก็เย็นสงบสุข
ไฟโทสะร้ายกาจ เป็นข้าศึกต่อความสุข
ถอนโทสะเพียงสิ่งเดียวออกจากจิตใจ
ก็จะไม่ต้องต่อสู้กับคนรอบตัว โลกทั้งหมดจะสงบเย็น
มีแต่คนน่ารัก มีแต่คนน่าสงสาร ควรแก่การเมตตากรุณา
ไฟเสมอด้วยความโกรธไม่มี
พระพุทธเจ้าเปรียบความโกรธว่าเหมือนไฟ
เช่นไฟไหม้ป่า เผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า
ความโกรธ มีพลัง มีอำนาจทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง
ยิ่งกว่าไฟไหม้ป่าเสียอีก มีแต่โทษ ไม่มีคุณแม้แต่นิดเดียว
จะเห็นได้ว่าคนโบราณมีการอบรมสั่งสอนลูกหลานให้กลัว
และระมัดระวังไฟ เพราะอันตรายมาก โดยเฉพาะ ไฟไหม้บ้าน
ไฟไหม้ป่า ล้วนเผาทำราย พรึบเดียว ชั่วข้ามคืน
ทำลายทั้งทรัพย์สมบัติจนหมดตัว และยังอาจทำลายชีวิตคนบางครั้งเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ คนทีเดียว
แต่ความโกรธ อันตรายยิ่งกว่าไฟ ไฟเสมอด้วยโกรธไม่มี
เพราะความโกรธจะทำลายแม้แต่น้ำใจเรา
คนที่เรารักสุดหัวใจก็ดี คนที่รักเราก็ดี
ชื่อเสียง คุณงามความดีที่สะสมไว้ตั้งแต่อเนกชาติ
ถูกทำลายย่อยยับได้ด้วยความโกรธ
ความโกรธ โมโห ครั้งเดียว สามารถทำลายได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
น่ากลัวยิ่งกว่าไฟไหม้ !!!!!
ความโกรธนี้ฆ่าผู้มีพระคุณมาหลายต่อหลายคนแล้ว
ฆ่าคนที่เรารัก คนที่รักเรา คู่รักที่ต่างรักใคร่ชอบพอกัน
บางครั้งในที่สุด ความโกรธก็ทำให้เลิกร้างกัน
ทำให้ชีวิตครอบครัวต้องแตกแยก
จนถึงทำให้ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูกก็มี
ผู้ใหญ่ในระดับประเทศโกรธกัน จนเป็นเหตุให้กลายเป็นสงคราม
ฆ่ากันตาย เป็นพัน ๆ หมื่น ๆ แสน ๆ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายที่เราเห็นกันด้วยตา
นับแต่มด ยุง กบ เขียด แมว สุนัข วัวควาย มนุษย์
อย่างน้อยชาติหนึ่งเคยเป็นพี่น้องกันในวัฏสงสารที่ยืดยาว
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเคยรักกันเกลียดกันมาอย่างนี้
จนทุกวันนี้ และต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ
ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรประมาท ทำใจให้สงบน้อมเข้ามาสู่ตน
พิจารณาดูว่า มีใครบ้างที่เราอาฆาตพยาบาท ถ้ามีรีบให้อภัย
อโหสิกรรมเสียแต่บัดนี้ อย่างน้อยก็ชาตินี้ ก่อนตาย
จะได้ไม่ต้องเป็นคู่เวรคู่กรรมกันอีกต่อไป อย่าคิดว่า
ต่างคนต่างอยู่ ไม่เป็นไร แม้จะอยู่คนละจังหวัด
คนละประเทศก็ตาม ก็จะมีโอกาสพบกันในชาติหน้า
และมีโอกาสมากด้วย ถ้าหากมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น
ดูใจของตน ก็เห็นชัด คิดถึงใครก็ดี คิดแค้นอาฆาตพยาบาทใครก็ตาม
นั่นแหละ! ระวังให้ดี
ต่อไปจะเกิดมาพบกัน
และทำความเดือดร้อนให้แก่กัน
นับภพนับชาติไม่ถ้วน
ฉะนั้น ไม่ให้คิดมีเวรแก่กัน จงให้อภัย และอโหสิกรรมแก่กัน
ไม่ให้คิดอาฆาตพยาบาท ไม่ให้คิดเบียดเบียนกัน
มีแต่ปรารถนาดีต่อกัน พยายามทำแต่กรรมดีให้ทาน
เอื้อเฟื้อกัน มีปิยวาจา พูดดี พูดไพเราะ
ทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม วางตนเหมาะสม
เสมอต้นเสมอปลาย การประพฤติปฏิบัติต่อกันอย่างนี้
จะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในปัจจุบัน
และเป็นการสร้างกรรมดีต่อกัน
อนาคตถ้าเกิดมาพบกันอีก
ก็จะเป็น พี่น้อง เพื่อนฝูงที่ดีต่อกัน
เกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ไฟไม้บ้าน – ดับไฟก่อน
เมื่อเรากระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ จะโกรธ อยากโกรธ
หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ
จนกว่าใจจะสงบสบาย เมื่อเราไม่พอใจ ไม่ต้องคิด
อย่าคิดไปตามอารมณ์ คิดว่า ทำไมเขาทำอย่างนี้
เข้าไม่น่าทำเช่นนี้
พิจาณาดู… สมมติเมื่อเรากำลังกลับบ้าน
มองเห็นควัน มีไฟลุกขึ้น ไฟกำลังไหม้บ้านของเรา
ถึงแม้เรามองเห็นว่า มีใครวิ่งหนีไปก็ตาม
เราไม่ต้องคิดสงสัยว่า เขาเป็นผู้ร้ายหรือเปล่า
สิ่งที่ต้องทำก่อนทุกอย่างคือ วิ่งเข้าไปหาทางดับไฟ
ให้เร็วที่สุด หาน้ำ หาเครื่องดับไฟ ผ้าห่ม ฯลฯ
ทำดีที่สุดเพื่อที่จะดับไฟให้สำเร็จ
เมื่อดับไฟแล้ว จึงค่อยคิดหาสาเหตุว่า ทำไมจึงเกิดไฟไหม้
เช่น เป็นอุบัติเหตุ หรือมีใครลอบวางเพลิง
มีใครประสงค์ร้ายคิดทำลายทรัพย์สมบัติของเราหรือไม่
เมื่อเกิดอารมณ์ไม่พอใจ ไม่ต้องคิดหาเหตุว่าใครผิด ใครถูก
ระงับความร้อนใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน
หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ เมื่อใจสงบแล้ว
จึงค่อยคิดด้วยสติ ปัญญา ด้วยเหตุผล
ละความโกรธด้วยรักและเมตตา
เมตตาตรงข้ามกับโทสะ และพยาบาท
ซึ่งเป็นความโกรธ ความมุ่งร้าย
เมตตาเป็นความรัก ความปรารถนาดีให้มีความสุข
เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความรักที่เป็นราคะคือความใคร่
ดังนั้นหากเราหมั่นอบรมจิตให้เมตตาตั้งขึ้นในจิตใจได้
จิตใจก็จะพ้นจากโทสะพยาบาท
เพื่อให้มีเมตตาเป็นพื้นฐานของจิต เราควรพิจารณาว่า
ตัวเรารักสุข เกลียดทุกข์ฉันใด
คนอื่น สัตว์อื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์ฉันนั้น
ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ จะต้องทำใจตัวเองให้มีเมตตาก่อน
คือทำจิตใจตัวเองให้อ่อนโยน สงบเย็น
แล้วจึงแผ่เมตตาแก่ผู้อื่น
เพราะการจะแผ่สิ่งใดออกมาได้
จิตใจจะต้องมีคุณสมบัตินั้นอย่างแท้จริง
การเจริญเมตตาภาวนา
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของจิตเป็นประภัสสร
บริสุทธิ์ผ่องใส โดยธรรมชาติ ความเบิกบานใจ สุขใจ นั้นมีอยู่
เป็นอยู่แต่ดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้ ที่พวกเราไม่ค่อยสบายใจ ทุกข์ใจ
เพราะมีอารมณ์ กิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำจิต
เราสามารถเจริญสติน้อมเข้าไปสัมผัสความเบิกบานใจ
สุขใจที่มีอยู่ได้ หน้าที่ของเราคือ ต้องสร้างกำลังใจ เจริญสติ
สมาธิ ปัญญา รู้จักกุศโลบายที่จะน้อมเข้าไปสุ่ธรรมชาติ
ของจิตประภัสสร โดยมีวิธีปฏิบัติ
ในการเจริญเมตตาภาวนา ดังนี้
วิธีปฏิบัติ
น้อมเข้ามาที่ลมหายใจ
ข้าศึกต่อความสุข คือความคิดผิด ความคิดไม่ดีของตนเอง ไม่ใช่การที่เขากระทำดีหรือไม่ดีต่อเรา
ไม่ว่าเขาจะไม่ดีขนาดไหน ถ้าใจเราดีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ศัตรูร้ายกาจที่แท้จริ คือ ใจไม่ดี ความคิดไม่ดีของตนนั่นเอง
ผู้เจริญเมตตาภาวนา ควรระวังรักษาใจ
ระวังความคิดผิดให้มากที่สุด อะไรไม่ดี อย่าคิดเลย
สุขภาพไม่ดี อากาศไม่ดี รัฐบาลไม่ดี
ถึงแม้ใครทำอะไรผิดจริง ๆ ผิดมากขนาดไหน
ก็ไม่ต้องคิดว่า “ใคร” หรือ “อะไร” ไม่ดี
เริ่มต้นปรับท่านั่งให้สบาย ๆ หยุดคิด ทำใจสบาย ๆ หายใจสบาย ๆ
บางครั้งจิตใจไม่เบิกบาน มีความรู้สึกไม่ดี เศร้า ๆ ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ
หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ
ทำความรู้สึกคล้ายกับว่า หนีจากความรู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ
น้อมเข้าไปอยู่กับลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
ตั้งสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วถึงลมหายใจ
ปรับลมหายใจสบาย ๆ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
น้อมเข้าไปอยู่กับลมหายใจ ละลายความรู้สึกเข้าไปในลมหายใจ
จนรู้สึกกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ
มีความรู้สึกตัวทั่วถึง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
พร้อมกับระลึกถึงปีติ สุข
ทุกครั้งที่ หายใจเข้า หายใจออก
จิตใจของเราจะเบิกบาน สงบ สบาย มีปีติสุข
เท่ากับว่า หายใจเข้า หายใจออก คือ สุขใจ สบายใจ
หายใจเข้าสบาย ๆ มีปีติสุข สบายใจ สุขใจ
หายใจออกสบาย ๆ มีปีติสุข สบายใจ สุขใจ
ดึงปีติสุขในใจออกมา
เริ่มต้น ปรับท่านั่งสบาย ๆ
หยุดคิด ทำใจสงบ ปรับลมหายใจสบาย ๆ
น้อมเข้าไป ตั้งสติที่กลางกระดูกสันหลัง ระดับหัวใจ
สมมติว่าศูนย์กลางของจิตใจ อยู่ที่นั่น
เป็นจิตประภัสสร บริสุทธิ์ ผ่องใสโดยธรรมชาติ
ความเบิกบานใจ ปีติสุข อยู่ที่นั่น
ทำความรู้สึกว่า จุดนั้นเป็นจุดร้อน ๆ
ความรู้สึกร้อน ๆ และปีติสุข
ลักษณะเหมือนไอน้ำ ระเหยออกมาจากที่นั่น
หายใจเข้า ดึงเอาปีติสุขออกมา
คล้ายกับว่า ใช้นิ้วค่อย ๆ ดึงออกมาเรื่อย ๆ
หายใจออก ตั้งสติอยู่ข้างใน
ความรู้สึกที่ดี ดันออกมาข้างหน้าต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ
อุปมาเหมือนกับว่ามีหมอนใบหนึ่งมีรูเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง
เราเอานิ้วจับอยู่ที่ปุยนุ่นแล้วค่อย ๆ ดึงออกมาเรื่อย ๆ
สมมติให้กลางกระดูกสันหลัง เป็นจุดศูนย์กลางของจิตประภัสสร
เป็นจุดสัมผัสกับพุทธภาวะ คือภาวะแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า
และอริยะสาวกทั้งหลาย เป็นเมตตา กรุณา ปีติสุข
ที่มีอยู่ในจักรวาล ไหลออกมาผ่านจุดศูนย์กลางจิตใจของเรา
อุปมาเหมือนท่อที่มีสายน้ำไหลแยกออกมาจากทางน้ำใหญ่
เมื่อเราฝึกจนชำนาญแล้ว จะรู้สึกว่าการหายใจคือปีติสุข
ความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ สัมผัสกับเราแต่เพียงส่วนหน้า
เราน้อมเข้าไป ตั้งสติอยู่ที่สุดกลางกระดูกสันหลัง
เมื่อความรู้สึกที่ดี ปีติสุข ไหลออกมาแล้ว
ความรู้สึกที่ไม่ดี ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในใจเราจะมีปีติสุข
เป็นความรู้สึกที่ดี สบายใจ สุขใจ
เมื่อชำนาญแล้ว เราไม่ต้องตั้งใจหรือใช้อุบาย
เมื่อหายใจเข้า หายใจออก ตามปรกติ
ความรู้สึกที่ดี และปีติสุขจะไหลออกมาเรื่อย ๆ
เหมือนลมหายใจและปีติสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ปล่อยวางความโกรธให้เร็วขึ้น
เมื่อเรามีนิสัย ขี้โกรธ ขี้โมโห เห็นอะไร ได้ยินอะไร กระทบอารมณ์
คงจะห้ามความโกรธไม่ได้
ก็ไม่ต้องห้าม ให้โกรธตามเคยนั่นแหละ
แต่พยายามปล่อยวางให้เร็วขึ้น ไม่ผูกใจเจ็บ ให้อภัย
ให้อโหสิกรรมให้เร็วขึ้น เช่น เรารู้อยู่ว่าปกติโกรธขนาดนี้ จะไม่สบายใจอยู่ 3 วัน
พยายามปล่อยวางภายใน 2 วัน จากนั้นลดให้เหลือ 1 วัน
3 ชั่วโมง จนเหลือ ครึ่งชั่วโมง เป็นต้น
การต่อสู้กับอารมณ์โกรธ ให้เอาหัวใจนักกีฬามาสู้
อย่าเอาจริงเอาจังกับเหตุการณ์ณ์จนเกินไป
โอปนยิโก น้อมเข้ามาดูใจ ดูอารมณ์
เอาสติปัญญา ต่อสู้กับอารมณ์ตัวเอง
ให้มีความพอใจ ความสุขในการแก้ปัญหา แก้อารมณ์ของตน
เมื่อเราเห็นความก้าวหน้า ในการต่อสู้กับอารมณ์แล้ว
ลึก ๆ ภายในใจก็จะมีความพอใจ
ในท่ามกลางความโกรธได้เหมือนกัน
พิจารณาธรรมชาติของอารมณ์โกรธ
ตามสติกำลังของตัวเองก่อน เมื่อเข้าใจดีแล้ว
ปล่อยวางความรู้สึกโกรธ ตั้งสติที่ท้อง หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ
หายใจเข้าตามปกติ เน้นที่หายใจออกยาว สบาย ๆ
ทำเช่นนี้จะช่วยผ่อนคลาย กายเย็น ใจเย็น
อารมณ์สบาย ๆ มีความสบายใจ
ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข
ความโกรธ ไม่ว่ามากหรือน้อย โกรธนาน หรือไม่นาน
ล้วนทำลายความสุข ทำลายสุขภาพ เป็นโทษต่อตัวเอง และคนรอบข้าง
สำหรับผู้มีสติปัญญาแล้วจะเห็นความโกรธ
เป็นอารมณ์ของผู้ไร้ปัญญา ย่อมหลีกเลี่ยงคนมักโกรธ
ตัดความโกรธด้วยความมีสติข่มใจ
และถอนรากเหง้าของความโกรธด้วยเมตตาภาวนา
พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญการฆ่าความโกรธไว้ว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข
บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมไม่โศกเศร้า
ชอบที่คุณ few เขียน
เพราะ โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า
ไม่โกรธไม่โง่ ไม่โมโหไม่บ้า
ที่เขียนนี่ไม่ใช่ไม่เคยโง่ ไม่เคยบ้านะ
เคยบ่อย ๆ แต่นี่เขียนเพื่อเตือนใจตนเองด้วยแหละ
ของ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เขียนครับ ไม่ใช่ฟิวส์เขียนครับ