ผู้บริหาร คือ ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา

พอดีฟังอาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ เล่าเรื่องธรรมะให้ฟัง แล้วแกพูดขึ้นมาประโยคหนึ่งที่บอกว่าคนไทยส่วนใหญ่จะ “ฉลาดลึกซึ้ง โง่กว้างขวาง” ประมาณว่า รู้อยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นอย่ามาสอน ไม่รับรู้.

เลยไปค้นหาใน google พบบทความหนึ่งน่าสนใจครับ ขอมาเผยแพร่ให้อ่านกัน

ผู้บริหาร คือ ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา

บทความส่งให้ วารสาร Productivity World
ตอนนี้ผมคิดว่า มีเรื่อง เข็มขัดสั้น หรือ คาดไม่ถึง เกิดขึ้นในวงการบริหาร ชนิดที่เรียกว่า สร้างความได้เปรียบกันอย่างไม่น่าเชื่อ ใครอ่านบทความนี้แล้วยังไม่ฉุกคิด ยังไม่เฉลียว ก็ถือว่าเป็นคนฉลาด แต่ แค่ฉลาดเท่านั้น

แนวโน้มการบริหารได้เปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือจริงๆ และ เรื่องแบบนี้ ใครเขาจะมาบอกเราตรงๆ เขาเปลี่ยนไปล่วงหน้า ล้ำหน้าเราไปจะสิบปีแล้ว

ผมกำลังจะให้ข้อสังเกตว่า พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ที่ปรึกษา วิทยากร นักวิชาการ ฯลฯ กว่าจะรู้ตัวว่า การบริหารสมัยใหม่เปลี่ยนไปก็สายเสียแล้ว อาจจะเป็นเพราะ (ก) เราคงจะโดนฝรั่ง ญี่ปุ่น หลอก เรื่องการบริหารเข้าเต็มรัก เพราะ เรื่อง การค้า การขาย ก็ต้องมีการหลอกล่อ ปล่อย “ของปลอม” หรือ “ปล่อยไม่หมด” ออกมา ให้พวกผู้บริหารในประเทศที่ชอบ “ตามก้น” “เห่อ” ของนอก ได้หลงระเริงไป พวกเขาจะได้ขายระบบ ขายที่ปรึกษา ที่น่าเศร้าคือ ขายการประเมิน และ ใบรับรอง หรือ (ข) พวกเขาไม่ได้หลอกเราเลย แต่ เราเองต่างหาก ที่ “ปัญญาไม่พอเพียง” ที่จะไป เก็บ “เคล็ดวิชา”ของเขาออกมาได้ เราถอดระหัสวิชาของเขาไม่ออก เราไปเห็นแต่ “กระบวนท่า” ไม่ได้เอา “ลมปราณ”มาด้วย เราส่งคนที่ในหัวเป็นแบบ “บ้าอำนาจ” “บ้าสอน” ”บ้าเงิน” “นักล่ารางวัล” “นักสะสมใบรับรอง” ฯลฯออกไปศึกษาเรื่องการบริหาร เราก็จะได้ การบริหารแบบที่บิดเบี้ยวไปจากเดิม จนอาจารย์ญี่ปุ่น ฝรั่ง ส่ายหัวว่า “ฉันไม่สอนแบบนี้สักกะหน่อย” “คนไทย คิดไม่เป็น” “ระบบบริหารอะไรก็ตาม …. มาตายเมืองไทยทุกที” ฯลฯ

ผู้บริหารแบบ Newtonian

ผู้บริหารมากมาย ตกอยู่ในแนวคิดแบบ Newtonian คือ เป็นผลของระบบการศึกษาแบบ One size fit all เช่น คิดแบบเสื้อโหล เหมารวม ต้องเหมือนกันทั้งองค์กร วินัย คือ ทำอะไรเหมือนกัน สามัคคี คือ ใส่เสื้อสีเหมือนกัน ทำงานพร้อมกัน คิดตรงกับเจ้านาย ใครคิดต่างคือต่อต้าน ฯลฯ

แนวคิดแบบ Newtonian นี้ จะมองอะไร เป็น การผลิตแบบทีละมากๆ (Mass production) เช่น กวาดต้อนผู้คน เข้าอบรมคราวละมากๆ มองคนในองค์กรไม่ต่างอะไรกับวัตถุดิบ

คนแบบ Newtonian จะเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งชัดเจน และ เพิกเฉย (Ignore) เรื่องอื่นๆไปหมด เช่น หลายคนเรียนวิศวะ แพทย์ ทนาย บัญชี ฯลฯ เก่งเฉพาะทาง แต่ ไม่สนใจจิตวิทยา (บริหารแบบโหดๆ งกๆ เค็มๆ ทั้งกับพนักงาน และ ครอบครัวของตนเอง) ไม่สนใจธรรมชาติวิทยา ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม (จนโลกเข้าภาวะวิกฤต global warming ก็ยังเฉยๆ ไม่ทำอะไร นอกจาก จะบ่น วิจารณ์ และ ใช้นิสัยเดิมๆ ) ไม่สนใจชุมชน ไม่สนใจธรรมะ ฯลฯ ทำให้ออกมา รู้ลึกแต่ไม่กว้าง ดูพิกลพิการ ไม่เป็นผู้คนสักเท่าไร กลายเป็น “ฉลาดลึกซึ้ง โง่กว้างขวาง” หรือ ซี้ปังเท้า (Square head)

คนในแนว Newtonian จะมี เป้าหมายเชิงเดี่ยว (ถ้าเป็นการทำไร่นา ก็คือ ปลูกข้าวโพด ก็ข้าวโพดทั้งไร่เลย) หรือ เรียกในทางวิชาการว่า Single bottom line คือ สนใจแต่บรรทัดสุดท้าย คือ เงิน สนใจแต่ว่าตนเอง จะได้กำไรเท่าไร ได้ผลประโยชน์เท่าไร ลูกหลานตนจะได้ส่วนแบ่งเท่าไร จะไปหุบกิจการใคร เกษียณแล้วจะไปนั่งเป็นบอร์ดที่ไหน งกๆ เค็มๆ เป็นต้น คนพวกนี้ แก่แล้ว เกษียณแล้ว แทบจะหา คนระลึกถึงในแง่ดีๆไม่ได้เลย “อยู่ก็โหด ไปก็ไปโหดที่อื่นต่อ” ในหัวพวกเขามีแต่ Financial วัดความสำเร็จว่าจะได้ไปบริหารก้อนเงินที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากบริหารองค์กรเล็กๆ สองสามร้อยล้าน ก็จะเขยิบสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจวิธีการ ไม่ว่าจะ ฮุบกิจการ เลื่อยขาเก้าอี้ กินเล็กกินน้อย เอานักบัญชีตัวโกงติดตัวไปด้วยเสมอ เลี่ยงภาษี จัดฉาก สร้างภาพเก่ง ฯลฯ

คนที่อยู่กับ “ของแข็ง” มากๆ อยู่กับเครื่องจักรมากๆ จะมี พฤติกรรมที่แข็งกระด้างมากขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีสูงขึ้น คนก็จะหยาบมากขึ้น ก็ไม่แปลกอะไร ที่ผู้บริหารหลายท่านมีพฤติกรรม ที่ห่าง จากความเข้าใจตนเอง ห่างจากความเข้าใจความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ

เราจะโทษ คนพวกนี้ก็คงไม่ได้ เพราะ เขาถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เล็กๆ ด้วยระบบการศึกษาที่เน้นคนเก่ง ก็จัดว่าเป็นแนวเป้าหมายเชิงเดี่ยว สังคมไม่ได้ปลูกฝังว่า แค่เรียนเก่งไม่พอเพียง ต้องเป็นคนดีด้วย มีความสุขด้วย และ ทำอะไรอย่างพอเพียง ยั่งยืนด้วย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก

น่าเศร้า ที่ว่า เราจะพบเห็น ผู้บริหาร ผู้คนมากมาย ที่มาแนว Newtonian เยอะมาก หาตัวอย่างคนแบบนี้ได้ในแทบทุกองค์กร พวกเขาไม่รุ้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ การกระทำ วิธีคิด นิสัย ฯลฯ ของเขา กำลังทำให้โลกวิบัติมากขึ้น ทั้งด้านโลกร้อน ศีลธรรมเสื่อม ความทุกข์ น้ำใจ ฯลฯ

ผู้บริหารฝรั่ง ไทย ญี่ปุ่นมากมาย จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นโรคร้าย (ก็ดูดบุหรี่กันสะประมาณนั้น) หย่าร้าง อมทุกข์ โรคหัวใจ ฯลฯ

คนแนว Newtonian จะมีปัญญามาก แต่ ขาดสติ ฉลาดมากแต่ไม่เฉลียว เก่งมากแต่แล้งน้ำใจ พวกเขายังตอบตนเองไม่ได้ว่า “เกิดมาทำไม?” เขาอาจจะตอบว่า ถล่มทรัพยากรที่มีน้อยนิดให้สิ้นไป เอาความมันส์ และ สะใจเป็นตัวตั้ง

บ่อยครั้ง ที่ผมมองผู้บริหารแบบนี้ อย่างตรงไปตรงไป ตามความเป็นจริงว่า พวกเขา เจอโรคร้าย ที่ชื่อ ว่า “หลง” ไปเต็มตัว แต่ ถ้ามองในแง่ดี มีคนแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน ต้องขอบคุณในความเสียสละของเขา เพราะ ในชาติหน้า ในอนาคตกาล จะได้มีวัว ควายไว้ให้ ชาวนาทำนา ปลูกข้าว ไปถวายพระบ้าง

ผู้บริหารแบบ Bohmian

เพื่อความอยู่รอดจากภัยพิบัติใหญ่ของโลก คือ สภาวะโลกร้อน เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ปรับ paradigm (อ่านว่า พาราดาม แปลว่า กระบวนทัศน์) หรือ ความคิดที่ใช้จนเป็นสันดานไปแล้ว แก้ไขได้ยาก เช่น งกๆเค็มๆ บ้าอำนาจ ชอบสั่ง ไม่เห็นใจคนอื่น ดูถูกคนอื่น เห็นคนอื่นโง่กว่า ฟังใครไม่จบ ฯลฯ ให้ออกมาเป็น กระบวนทัศน์ที่ทำให้โลกใบเล็กๆนี้ สวยงาม สะอาด มีความสุขอย่างยั่งยืน (Sustainable)

ผู้บริหาร ผู้คนแบบ Bohmian จะ มีลักษณะ ดังนี้

มีเป้าหมายแบบพหุ หรือ Multiple bottom line นั่นคือ ไม่ได้มองแค่ เงิน อำนาจ เท่านั้น แต่มองไปถึงต้นทุนทางสังคม (Network or social capital) ต้นทุนทางปัญญา (Intellectual capital) ต้นทุนทางการมีใจให้กัน (Collaboration capital) ด้วย พวกเขาไม่ได้เอา “เงิน” เป็นตัวตั้ง ไม่ได้เกิดมาเพื่อ “กิน ขับถ่าย สืบพันธุ์ นอน” เท่านั้น แต่ ห่วงใยลูกหลาน ค้นหาทางพ้นทุกข์อย่างยั่งยืน เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เฉลียวใจ (Sensing) เป็นคนที่ ฉลาดและเฉลียว มีสติและปัญญา

แนว Bohmian จะมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เข้าใจ ความซับซ้อน (Complexity) ซึ่ง Peter Senge (อ่านว่า เซ็งกี้ เพราะ คุณกิดากร อังคณารักษ์ ของปูนใหญ่ (SCG) ไปถามตัวต่อตัวมาแล้ว ที่ Atlanta ต้นปี 2007 นี้เอง) ได้พยายามสอน ชี้ทาง ให้ ผู้บริหารสมัยใหม่ เข้าใจ complexity ให้ได้ ผมเองก็ใช้เวลานานกว่าจะเข้าถึง (ไม่ใช่แค่ เข้าสมอง หรือ เข้าใจ) เรื่องความซับซ้อนนี้ และ ก็ใช้เวลานานมาก กว่าจะทำให้ผู้บริหารหลายๆท่าน เข้าถึงเช่นกัน

สมัยก่อน เราชอบมองอย่างแยกส่วน ตามแนว Newtonian (แนวอุตสาหกรรม) หรือ ทวินิยม เช่น นี่สมองซ้าย นี่สมองขวา คนนี้เลว คนนี้ดี คนนี้โรงงาน คนนี้ออฟฟิศ คนนี้ช่าง คนนี้วิศวะ คนนี้เจ้านาย คนนี้ลูกน้อง ฯลฯ แต่ ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่แบบนั้น ลองเอาสิ่งที่ผมเขียนแนะนำไว้นี้ ไปสังเกตดูเอง ไปศึกษาแบบลงมือทำ ทดลองทำ (แนว Action learning หรือ Learning by doing) ก็จะค้นพบ เข้าใจ และ เข้าถึง

ถ้าส่ง ผู้บริหารแนว Newtonian ไปเรียนวิชาอะไรก็แล้วแต่ เช่น TQM / TPM / ISO / KPI & BSC / LO & KM / OD ฯลฯ รับรองได้เลยว่า จะ “มองมุมเดียว” ตามนิสัยที่ติดยึดนั้นๆ

พวกนี้ เป็นคนแบบ hard แข็งๆ ทื่อ ๆ หา “ใจ” ตนเองไม่เจอ อยู่ในโลกของทวินิยม ใช้โหมดเร่งรีบมากเกินไป ไม่รู้จะรีบไปไหน รีบจนหา sensing ไม่เจอ เร่ง Result จนพลาดกระบวนการ

ตัวอย่าง บ้าน TQM ของ Dr Kano หรือ เสาหลัก ของ TPM คนที่มาแนวแข็งๆ งกๆ เค็มๆ ทวินิยม บ้า results นักล่ารางวัล วิทยากรบ้าเครื่องมือ ที่ปรึกษาบ้าใบรับรอง ฯลฯ จะมองไม่เห็น ฐานบ้าน ( แรงผลักดัน ความร่วมมือ คิดเป็น กำลังใจ จิตวิทยา ความรู้พื้นฐาน ฯลฯ) พวกเขา จะ เห็นแต่ เสาหลัก โดยเฉพาะ เห็นเครื่องมือต่างๆ อุปมา “คนป่าได้ปืน” (เป็นสำนวนทางล้านนา คือ คนที่ไม่รู้จักอาวุธ ว่าใช้อย่างไร แต่ มาถืออาวุธอยู่ โอกาสยิง ลั่นกระสุนแบบโง่ มีสูงมาก) หรือ อุปมา “คนบ้าถือมีด” “วิทยากรได้เครื่องมือใหม่” จะบ้าเลือดออกไปสอน ผู้บริหารบ้าระบบ บ้ารางวัล จะรีบเอาไปจัดฉาก ทำยอดขาย

ผมคงไม่มองว่า เราต้อง ย้ายมาเป็น Bohmian หรือ Holistic แบบข้ามคืนนะครับ เพราะ มันไม่ง่ายขนาดนั้น การจะเปลี่ยน ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงประจักษ์ การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Constructivism learning) หลายวัน หลายโครงงาน

แนว Bohmian ที่พอจะเห็นๆ คือ เศรษฐกิจพอเพียง ไร่นาสวนผสม วนเกษตร (ป่า กับ เกษตรกรรม ปนๆกัน) ที่เราเอาแนวคิดเหล่านี้ มาประยุกต์ใช้ได้ในทุกองค์กร ไม่ว่า จะเป็นโรงงาน หรือ บริการ

โหมดต่างๆ ในชีวิต

ผมมองว่า คนเรา ควรรู้และเข้าใจ Mode (โหมด) ต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่ แข็งทื่อ ซี้ปังเท้า มีโหมดเดียว

โหมดต่างๆ ได้แก่ ( ใช้คำว่า ได้แก่ หมายความว่า มีมากกว่าที่นำเสนอ และ เปลี่ยนแปลงได้)

โหมดเรียนรู้ ในโหมดนี้ เราจะตื่นรู้ เสือกๆ สอดรู้ สอดเห็น เปิดใจ ถอดยศ ถอดตำแหน่ง สุนทรียสนทนา เข้าค่ายเรียนรู้ ฯลฯ ทำให้กระบวนทัศน์ดีขึ้น เฉลียว (sensing) ดีขึ้น สติดีขึ้น

โหมดทำงาน ควบคุม ตามแผน ตามสั่ง เป็นโหมด ที่ต้องอดทน ทำอะไรที่ซ้ำซาก หรือ อย่าขัดคำสั่ง เช่น ตอนรบเราต้องฟังแม่ทัพ ไม่ใช่ จะมาใช้โหมดเรียนรู้ขณะรบ ควรรอ รบเสร็จ ค่อยทำ AAR (After action review) แม่ทัพก็จะอธิบายเหตุผล ไม่ใช่ มาถามตอนกำลังรบ

โหมดเอาตัวรอด หรือ Survival เป็นโหมด ที่พนักงานใช้บ่อย และ เรานึกว่าพนักงานใช้โหมดทำงานสะอีก เขาทำไปแบบแกนๆ ไม่มี “ใจ” ให้องค์กร

โหมดปิดการรับรู้ เป็นไม้ตายซาก ต่อต้านสังคม (วิจารณ์ ด่าทอ ไปทั่ว แต่ ไม่ลงมือทำ ไม่แนะนำอะไร) ไม่เอาอะไรทั้งนั้น (หลบได้หลบ) รอเกษียณ (ใครอย่ามายุ่งกับฉัน) เป็นโหมดของพวก Ignorant น่ากลัว ไร้ประโยชน์ เพราะ ไม้ผุๆในป่ายังเป็นอาหารให้ปลวก เป็นที่หลบภัยของสัตว์เล็ก เป็นปุ๋ย ดีกว่า คนพวกนี้เยอะ แต่ ก็แก้ได้ครับ เพียงแต่นานหน่อย เราต้องค้น แคะ ปมในใจ (Mental model) ของเขาออกมาให้ได้

คนแบบ Newtonian จะมีโหมดเดียว ทำให้ เป็นผู้บริหารที่หลงตนเอง ขี้โม้ เอาแต่ใจตัว ใช้เงินฟาดหัว สร้างภาพ เอาเปรียบสังคม ชอบเอาชนะ แพ้ไม่เป็น ไม่สนใจสภาวะโลกร้อน มีโลกทัศน์แคบๆ แม้นว่าจะเดินทางรอบโลกหลายรอบก็ตาม ไม่เข้าใจตนเอง หลอกตนเองว่าเข้าใจ แล้วจะไปเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร

ผู้บริหารแนว Newtonian อาจจะเรียนสูง ตำแหน่งสูง เก่ง แต่ ….. ขาดโอกาสในการศึกษา โดยเฉพาะ ศาสตร์ที่ทำให้ ตัวผู้บริหารมีความสุขอย่างแท้จริง

เราทำร้ายธรรมชาติมามากแล้ว ระวังนะครับ ตาธรรมชาติเขาจะเอาคืนแล้ว น้ำแข็งขั้วโลกละลายทุกวัน น้ำแข็งที่ยอดเขา Everest ก็ถล่มลงมาแล้ว สภาวะอากาศทำนายไม่ได้ง่ายๆอีกแล้ว ฯลฯ รีบเร่ง สร้างกำลังสติ ค้นคว้าศึกษาความคิดและจิตใจตนเองให้มากๆไว้ เพราะ ตอนนี้ มันสายไปแล้ว

ที่มา http://citecclub.org

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.