หลายคนคงรู้จักวง “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ที่อาจชื่อแปลกแต่สำหรับคอดนตรีอิสระ วงนี้อยู่ในใจไม่น้อย และมีเพลงที่เขาเคยแต่งและร้องกันไว้ อย่าง “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” จนนำมาประกอบในหนัง “สายลับจับบ้านเล็ก” โด่งดังเป็นพลุแตกมาแล้วจากเสียงร้องของ “ดา เอ็นโดรฟิน” และ “ป๊อบ แคลอรี่ บลาบลา” แต่ผู้ที่เป็นนักร้องนำแห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า คือ “ตุล ไวฑูรเกียรติ” ที่เพิ่งมีหนังเรื่องแรกในชีวิตอย่าง “อยากได้ยินว่ารักกัน” และวันนี้เราจับหนุ่มคิดอิสระคนนี้มาพุดคุยเรื่องธรรมะ ซึ่งบทสรุปที่ได้ คือทุกครั้งที่เกิดทุกข์ เขาใช้ปลายปากการะบายออกมาเป้นเสียงเพลง นั่นเอง
เนื้อหาเพลงถูกอกถูกใจคนฟังเพลงแนวอินดี้ไม่น้อย กวาดมาทุกเวที แต่สำหรับเวที “ธรรม” ตุล ออกตัวว่าไม่ใช่คนธรรมะธัมโม นุ่งขาวห่มขาว หากแต่เมื่อมีกิเลสขึ้นมา เขาดับกิเลสนั้นด้วย “ดนตรี”
“ผมไม่ใช่คนนั่งสมาธินะ จริงๆแล้วการแต่งเพลง การทำดนตรี เราต้องมีกิเลสเยอะ มันค่อนข้างตรงกันข้ามกับธรรมะเลย ธรรมะทำให้ใจเราสงบใช่มั้ยครับ แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามันคือช่วงที่จิตผมป่วน เกิดกิเลส เศร้า โกรธ เครียด จุดประกายให้เกิดดนตรีได้ ถ้าผมสงบดี คิดไม่ออก จะไม่ทำเพลง ผมว่าเพลงมันคือเครื่องปลดทุกข์ครับ เวลาสุขผมก็ค่อนข้างสงบจะนั่งเฉยๆอ่านหนังสืออะไรไป ใช้ชีวิตอย่างอื่นแทน”… ตุลเอ่ยถึงการบำบัดทุกข์ด้วยการแต่งเพลงของเขาแบบที่เราไม่เคยรู้
สำหรับการทำบุญของเขานั้น หนุ่มตุลบอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นประจำคืออุปการะเด็กจากมูลนิธิยูนิเซฟ และใช้ดนตรีช่วยในจุดที่คนดนตรีอย่างเขาพอจะช่วยได้
“ผมช่วยได้เท่าที่ผมไหว เช่นอุปการะเด็กผ่านมูลนิธิที่เราสนใจและโอเค ให้เขาทุกเดือนให้เรียน ส่งเขาเรียนไปเรื่อยๆ ที่ยูนิเซฟทำทุกเดือน เขาตัดจากบัตรเครดิตไป โครงการศุภนิมิต เขาจะส่งรูปเด็กมาให้เราดูว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร อุปการะตามที่เราพอไหวครับ แต่พวกทำสังฆทาน ก็ไปทำครับไม่มีปัญหา แต่ติดตื่นสายครับ ไม่ทันพระ แสดงออกดว้ยทางอื่นจะเยอะกว่า”
“ผมทำบุญ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ครับ อะไรที่เราช่วยได้เราก็ทำ บางทีเราเป็นนักดนตรี เราก็ช่วยองค์กรต่างๆ เราทำในส่วนที่เรามีเรี่ยวแรงดีกว่าครับ เป็นสิ่งที่เราทำได้ครับ ผมไม่ใช่ทางนุ่งขาวหุ่มขาวครับ เพราะผมเป็นคนอยู่เฉยไม่ได้”
สำหรับเขาแล้ว เขาบอกว่าไม่ได้เน้นหนักหรือเคร่งครัดในศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของการทำดีศาสนาทุกศาสนาย่อมสอนให้คนเป็นคนดี
“บ้านผมพุทธนะ แต่จริงๆผมไม่มีศาสนานะครับ ผมเป็นอะไรก็ได้ ใครพาผมไปไหนก็ไปได้ครับ ใครพาไปโบสถ์คริสต์ก็ไปได้ มีเพื่อนเป็นอิสลามก็ทำประเพณีเขาผมก็ไปได้หมด”
“ผมคิดว่าอย่างผมใช้ปรัชญาบางอย่างได้ แต่เราก็มีความสุขที่เรากินเหล้าใช่มั้ย เราจะพูดว่าเราเป็นพุทธศาสนิกชนได้ไม่เต็มปากหรอก เพราะว่าเราเองก็กินเหล้าอยู่ พระสวดว่าสุราเมรัยยะ แต่เราก็กินสุราเป็นระยะๆ เราเอามาใช้ได้ มันอยู่ที่เราหยิบมา เราคนของโลกทุกศาสนาจึงมีข้อดี เลือกอันเดียวก็ไม่ยึดในกฏ เราก็เลือกเอาครับ”
แต่ตุลบอกว่าสำหรับวิถีพุทธแล้ว สิ่งที่เขาคิดว่า “จริง” และ “ใช่” ที่สุดคือ ต้องการน้อยก็คือทุกข์น้อยนั่นเอง
“วิถีพุทธคือวิถีง่ายนะ คือถ้าเราต้องการน้อย เราก็ทุกข์น้อย คือมันเป็นวิถีง่ายๆกิเลสเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ การแต่งเพลงก็ดีนะ เราจะเห็นกิเลสตัวเอง เพลงเศร้าเราก็เห็นกิเลสคือความเศร้า มันไม่จีรัง มันเขียนลงระบายกระดาษ โกรธระบายก็จะเห็นตัวกิเลสเรานี่แหละ คนเรามันมีกิเลสทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าเอาไปลงตรงไหน ผมว่าคนที่เขียนเพลง เขียนหนังสือได้ โชคดีครับเหมือนมีบริษัทประกันมาจ่ายให้ว่าเราได้เพลง”
ชีวิตไม่สิ้นหวังแบบ “ตุล”
“เราต้องอยู่อย่างมีหวัง โลกซ่อมตัวเองได้ ทุกอย่างมันซ่อมตัวเองได้ ชีวิตคนเรามันมีปัญหากันทุกคนนะครับ อินได้แต่อินให้ถูกเวลา ถ้าคุณอิน 24 ชั่วโมงก็ไม่ไหวครับ นักการเมืองเขาเล่นการเมืองเองเขายังไม่อินทุกวันเลยครับ เหมือนนักดนตรีก็ไม่ได้อินกับดนตรีทุก 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นคนปกติธรรมดาก็อย่าไปอินกับอะไรมาก คิดได้แต่รู้เท่าทัน ว่ามันคือข้อมูล”
“ธมฺมปีติ สุขํ เสติ” ผู้อิ่มใจในธรรม ย่อมนอนเป็นสุข…หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ข่าวโดย ทีมงาน M-Lite
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์