หากเราทราบถึงตนเอง การจะข้าวไปแข่งขันใน AEC หรือแม้แต่โลกทั้งโลก ก็ย่อมจะดีกว่าการคลำทางหรือไม่รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตน บังเอิญผมไปพบบทความหนึ่งที่เขียนโดยไอดอลผมท่านหนึ่ง คือคุณวิกรม กรมดิษฐ์ น่าสนใจมากครับ
1. คนไทยรู้จักตัวตนของเราเองต่ำมาก กล่าว คือ รู้จักหน้าที่ของตัวเองต่ำมาก โดยเฉพาะหน้าที่ต่อสังคม ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะมีสำนึกต่อสังคมส่วนรวมสูงมาก ของเราจะไม่คำนึงถึงส่วนรวม แต่จะเป็นประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนทำให้เกิดวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจทุกระดับชั้น จนมีคำพูดว่า ธุรกิจการเมือง ธุรกิจราชการ ธุรกิจการศึกษา ทำให้ทุกคนแสวงหาอำนาจเพื่อจะตักตวงเพราะความไม่รู้จักตัวตน ไม่รู้จักประเทศของตัวเองเช่นนี้แล้ว ทำให้ประเทศชาติของเราล้าหลังไปเรื่อย ๆ
2. การศึกษาของไทยยังไม่ทันสมัย สอนให้คนเห็นแก่ตัวมากกว่า ขาดจิตสำนึกต่อสังคม แม้แต่ภาษาคนไทยจะเก่งแต่ภาษาของตัวเอง ทำให้เราขาดโอกาสในการแข่งขันกับต่างชาติในเวทีต่าง ๆ ประเทศอื่น ๆ รู้จักคนไทยน้อยมาก เพราะคนไทยไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง เราจึงตามหลังชาติอื่น เพราะคุณภาพการศึกษาของเราไม่ทันสมัย จะเห็นว่าคนมีฐานะจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
3. คนไทยมองอนาคตไม่เป็น เท่าที่สังเกตเห็นว่าคนไทยกว่า 70% ทำ งานแบบไร้อนาคต แบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ น้อยนักที่จะวางแผนให้ตัวเองอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายที่ชัดเจนในอนาคต สะสมความสำเร็จไปอย่างเป็นลำดับ หรือเป็นเพราะไม่กล้าฝัน หรือไม่มีความฝันก็ไม่แน่ใจ และชอบพึ่งสิ่งงมงาย โชคชะตา พอใจทำงานแบบตำข้าวสารกรอกหม้อ ทำให้ประสิทธิภาพของเราไม่ทันกับการแข่งขันระดับโลก
4. คนไทยไม่ค่อยจะจริงจังในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การรับปากของเรามักทำแบบผักชีโรยหน้า หรือเกรงใจ แต่ทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากประสบการณ์ทำธุรกิจกับชาวต่างชาติจะพบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป คนเขาจะให้ความสำคัญกับสัญญาข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพราะหมายถึงความเชื่อถือในระยะยาว ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ปัจจุบันคนไทยถูกลดเครดิตในการเชื่อถือด้านนี้ลงไปเรื่อย ๆ
5. การกระจายความเจริญยังไม่เต็มที่ ประเทศของเรากระจุกตัวความเจริญเฉพาะในเมืองใหญ่ ประชากรประมาณ 60-70% ที่อยู่ห่างไกล จะขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและชุมชน ในต่างประเทศ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ห่างไกล แต่มีองค์ประกอบอื่น ๆ สนับสนุนเขาก็ลงทุน การสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค จะเป็นประโยชน์ ทำให้เป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการทางธุรกิจอย่างมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริม
6. การบังคับกฎหมายไม่เข้มแข็งและดำเนินอย่างไม่ต่อเนื่อง สังคมไทยชอบทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ปราบปรามไม่จริงจัง อาจได้ยินกรณีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีอำนาจหรือบริวารก็ตาม จะทำแบบเอาตัวรอดไปก่อน ไม่มีมาตรฐาน ต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว ข้อนี้กระบวนการยุติธรรมจะต้องปรับปรุง
7. สังคมไทยชอบอิจฉาตาร้อน ไม่ค่อยเป็นสุภาพบุรุษ และชอบเลี่ยงเป็นศรีธนญชัย เมื่อจนตรอก ในวงการเราจะพบกระแสของคนประเภทนี้ปะปนมากขึ้น จะเพราะเป็นเพราะสังคมเรายอมรับ หรือยกย่องคนที่มีอำนาจ มีเงิน แต่ไม่มีใครรู้ภูมิหลัง โดยเฉพาะคนที่ล้มบนฟูกแล้วไปเกาะผู้มีอำนาจ เอาตัวรอดหน้าตาเฉย คนพวกนี้ร้ายยิ่งกว่าผู้ก่อการร้ายเสียอีก เพราะทำความเสียหายต่อบ้านเมืองมากกว่า และจะเป็นประเภทดีแต่พูด มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทำให้คนดีไม่กล้าจะเข้ามาเพราะกลัวเปลืองตัว
8. เอ็นจีโอบ้านเราค้านลูกเดียว ทำให้เราเสียโอกาสในการพัฒนา เพราะเอ็นจีโอบางกลุ่มที่อิงผลประโยชน์อยู่ ถ้าจะพูดกันแบบมีเหตุผล ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เอ็นจีโอดี ๆ ก็มี แต่บ้านเรามีน้อย กรณีน้ำท่วมเพราะไม่มีเขื่อนรองรับเพียงพอ พอเกิดน้ำท่วม พวกที่ค้านจะแสดงความรับผิดชอบด้วยหรือเปล่า บ่อยครั้งที่ประเทศเราเสียโอกาสอย่างมหาศาล เพราะการค้านหัวชนฝา เหตุผลจริง ๆ ไม่ได้พูดกัน
9. คนไทยอาจจะไม่พร้อมในเวทีโลก เพราะไม่ถนัดภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาตัวเอง ทำให้โลกภายนอกไม่รู้จักคนไทยเท่าที่ควร และการจัดการตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีการค้าระดับโลก ของเราขาดทักษะและทีมเวิร์คที่ดี ทำให้เราสู้ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ไม่ได้
10. คนไทยเลี้ยงลูกไม่เป็น ปัจจุบันเด็กไทยขาดความอดทน ไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นขี้โรคทางจิตใจ ไม่เข้มแข็ง เพราะเราเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่ สอนให้ลูกช่วยตัวเอง ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะกระตือรือร้นช่วยตนเอง ขวนขวาย แสวงหา ค้นหาตัวเอง และเขาจะสอนให้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม คุณวิกรมแสดงความเห็นว่า การอบรมเยาวชนมาจาก 3 ทาง หนึ่งภายในครอบครัว สองจากโรงเรียน และสามจากสังคม หรือสื่อสารมวลชน
ที่มา cartoonthai