ถ้าใครอยากรู้ว่าคิดแบบผมเป็นอย่างไร ลองถามตัวเองดูว่าเคยคิดแบบนี้ไหม
สุขคืออะไร รักคืออะไร ทุกข์คืออะไร รวยคืออะไร จนคืออะไร ฯลฯ
คำถามเหล่านี้แหละคือ อภิปรัชญา ที่หาคำตอบไม่ได้
แต่ถ้าอยากได้คำตอบมันก็ไม่ยาก
ผมไม่ต้องรู้อะไรทั้งสิ้น ผมเพียงแต่รู้จักตัวเองเท่านั้น
รู้ว่าสุขเท่าใดผมถึงเรียกว่าสุข ทุกข์เท่าใดผมเรียกว่าทุกข์ รักเท่าใดผมเรียกว่ารัก
ซึ่งบางทีผมอาจจะมีความสุขเพราะเธอได้รักกับผม
หรือบางทีผมอาจจะมีความสุขเพียงผมได้รักเธอเท่านั้น
และปรัชญาทั้งหลายทั้งมวล ก็ถูกสรุปได้เพียงว่า รู้จักตัวเอง
ในโลกยุคโพสโมเดิร์น (postmodern) คนเรามีความเป็นปัจเจก (individual) มากขึ้น
บ่อยครั้งที่เราเห็นคนทำบ้าๆ บอๆ โดยไม่สนใจสายตาคนอื่น นั่นคือผลผลิตของการเป็นปัจเจกชน
ปัจเจกชนไม่สนใจว่าใครจะมองอย่างไร ฉันทำอย่างนี้ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ลำบากใคร ฉันทำได้ทั้งนั้น
ปัจเจกชนไม่สนใจว่าพ่อแม่จะคิดอย่างไร ในเมื่อฉันดูแลตัวเองได้ เงินฉันหามาเอง พวกคุณก็อย่ามายุ่งกับฉันเลย
เมื่อสังคมมีปัจเจกชนเยอะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็น คนแต่งตัวโป๊ คนติดยา ฯลฯ
แต่ปัจเจกชนดีๆ ก็มีเยอะ
ซึ่งในมุมมองนี้ความคิดผมและท่านได้ตรงกัน คือ ทุกอย่าง อยู่ที่ตัวเอง
มีปัญญา มีสมองคิด ก็ทำตัวเองดี ไม่มีปัญญา ไม่มีสมองคิดก็ทำตัวเองไม่ดี
ตัวเองทำอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น หรือศัพท์ทางธรรม มันคือ กรรม
เมื่อตอนที่ทำกรรมใดไว้ ก็หมายถึงเจตนาคิดแล้วว่าจะทำ
เมื่อผลของกรรมนั้นจะเลวร้ายอย่างไร ก็หมายถึงว่าต้องน้อมรับผลนั้น โดยไม่ต้องบ่นเลยสักคำ
เพราะเจตนาทำเอง หากจะบอกว่าเราขาดสติในตอนทำ นั่นก็เพราะเราทำตัวเองให้ขาดสติ ในขณะที่ไตร่ตรอง
เมื่อมองได้เช่นนี้ มันก็เริ่มจะกลายเป็นคนที่รู้แจ้งแทงตลอด ไม่บ่นว่าทำไมต้องเจอนั่นเจอนี่
บางกรรมทำขึ้นเองก็รู้ได้ บางกรรมก็ยังไม่สามารถรู้ได้ เพราะปัญญายังมีไม่มากพอ
ไม่รู้ว่านำมาคิดต่อถูกหรือเปล่า แต่ปัญญามีเท่านี้ ก็คิดได้เท่านี้