Author Archives: ชิตพงษ์ วุทธานันท์

80 พรรษา 80 โครงการพระราชดำริ ฉบับ National Geographic

ปกติผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ National Geographic จึงมักซื้อแทบทุกเดือน แต่ก็จะดูด้วยว่า เรื่องไหนที่เราไม่สนใจ เราก็จะยังไม่ซื้อ โดยนิสัยส่วนตัวที่มีความต่าง กันในตนเองสูง จึงมักชอบอ่านอยู่สองแนวคือ สังคม และ วิทยาศาสตร์ ถ้าเจอขึ้นปก สองเรื่องนี้ มักเป็นหยิบติดมือกลับบ้านทุกครั้งไป

ฉบับเดือน ธันวาคม 2550 ก็เช่นกัน ที่ขึ้นปกด้วยพระพักษ์บนพระบรมรูปของพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ผมก็เพิ่งจะมีโอกาสได้แกะถุงพลาสติดมาเปิดอ่าน เมื่อวานนี้เอง แล้วก็ประทับใจอย่างที่สุด

เพราะเล่มนี้ มีอภินันทนาการ เป็นหนังสือ กระดาษมัน 4 สี ขนาดเท่าตัวนิตยสาร เล่มบางๆ แต่มากด้วยคุณค่าเหลือเกิน
นั่นคือ หนังสือ “80 พรรษา 80 โครงการพระราชดำริ”

ข้างในเล่มกล่าวถึง ปนะวัติของพระองค์โดยย่อเพื่อนำทางให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่า ตลอดระยะเวลา 80 พรรษาของพระองค์ ได้ทำโครงการสำคัญๆ ต่างๆมากมาย ซึ่ง National Grographic ได้ยกตัวอย่างมาให้คนทั่วโลก*ได้รับรู้ 80 โครงการ

*ผมถูกใจจัง ตรงที่คำนำตอนท้ายบอกไว้ว่า หนังสือเล่มนี้นอกจากคนไทยที่ได้อ่านพร้อม National Geographic ฉบับภาษาไทยแล้ว ยังได้ถูกตีพิมพ์และแนบไปกับฉบับ National Geographic ฉบับภาษาอังกฤษที่ประเทศอังกฤษอีกด้วย

ใครยังไม่มี ลองไปหาซื้อย้อนหลังดูนะครับ เหมาะแก่การเก็บสะสมมากมาย เพราะมีพระบรมฉายาลักษณ์ เยอะมาก ทั้งที่เคยเห็นและไม่เคยเห็นมาก่อน

dsc_0007.jpg

หน้าปกครับ

dsc_0005.jpg

เนื้อหาภายใน อ่านง่าย พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งบ่อยครั้งที่เราไม่เคยเห็น เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ ที่ผมถ่ายมาให้ดู พระองค์ทรงกำลังสอนอะไรบางอย่างแก่บรรดานักเรียนที่เข้าเฝ้า

dsc_0004.jpg

นี่เป็นหน้าสุดท้ายของ หนังสือ 80 พรรษา 80 โครงการพระราชดำริ มีข้อความตอนหนึ่งที่ทำให้ผมน้ำตาซึมว่า

ภูมิพลมหาราช
ธ ทรงเกียรติก้องธรณินทร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่กษัตริย์ทุกประเทศทรงยกย่องเป็นแบบอย่างอันดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง ดังที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม ทรงมีพระราชดำรัชในพระนามพระประมุข และผู้แทนองค์พระประมุข 25 ประเทศ เมื่อครั้งเสด็จมาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ความตอนหนึ่งว่า

“…องค์พระประมุขและพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ ณ ที่นี้ ต่างรู้ซึ้ง ตระหนักได้ดีว่า เหตุใดประชาชนของพระองค์จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา มหาราช

    แต่หม่อมฉัน ตลอดจนองค์พระประมุขและพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาร่วมกันในงานวันนี้ ขอถวายพระราชสมัญญาที่เรียบง่ายแต่มีค่า และสะท้อนถึงความรู้สึกของหม่อมฉัน และทุกพระองค์ ณ ที่นี้ คือฝ่าพระบาททรงเป็น “มิตรที่รักและพึงเคารพสูงสุดของพวกเรา”

“ฝ่าพระบาททรงเป็นพลังบันดาลใจให้กับพวกเราเหล่าประมุขด้วยกัน และสิ่งนี้คือเหตุสำคัญล้ำลึกของความพร้อมเพรียงกันมาถวายพระเกียรติในครั้งนี้…”

——–

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ความรู้สึกที่ได้อ่าน รู้สึกว่าพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อปวงชนชาวไทยทุกอย่าง แต่กลับถูกชนชั้นฝ่ายบริหารนำสิ่งเหล่านั้นมาย่ำยีหาประโยชน์ใส่ตน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม รวมไปถึงชนชั้นประชาชนทั่วไปแบบเราๆ ท่านๆ ที่กำลัง ละเลย ปล่อยให้พระเสโท(เหงื่อ) ของคนที่เราบอกว่ารัก ต้องสูญเปล่า ท่านทำเช่นกันนี้กับพระองค์ท่านได้ลงคอเชียวหรือ??…

Share

น้ำสำคัญกับร่างกายอย่างไร

การแพทย์ไทยกล่าวไว้ว่า สรรพสิ่งต่างๆในจักรวาลนี้ ประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟและอากาศ ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งก็จะเสียสมดุล หรือธาตุหนึ่งธาตุใดพร่องหรือแกร่งเกินไปก็จะส่งผลให้เสียสมดุลเช่นเดียวกัน

ธาตุน้ำมี 12 ประการด้วยกันคือ

1.น้ำดี
2.เสลด
3.น้ำหนอง
4.เลือด
5.เหงื่อ
6.มันข้น
7.น้ำตา
8.มันเหลว
9.น้ำลาย
10.น้ำมูก
11.น้ำไขข้อ
12.น้ำปัสสาวะ

ส่วนศาสตร์การแพทย์จีนได้กำหนดไว้ในทฤษฎีปัญจธาตุ ซึ่งบอกไว้ว่าสรรพสิ่งต่างๆในจักรวาลประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 คือ ธาตุน้ำ,ธาตุไม้,ธาตุไฟ,ธาตุดิน, ธาตุทอง

และได้เปรียบเทียบไตและกระเพาะปัสสาวะอยู่ในธาตุน้ำคอยควบคุมการหมุนเวียนน้ำในร่างกาย ถ้าธาตุไม่สมดุลไตและกระเพาะปัสสาวะก็มีปัญหาและก็ลามไปสู่อวัยวะอื่นๆด้วย

จากประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ของผม น้ำคือตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราเจ็บป่วย แต่ละคนดื่มกินน้ำที่แตกต่างกันไป มีทั้งน้ำธรรมดา น้ำเย็น น้ำร้อน น้ำชา น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำนม ผลที่ได้จากการดื่มน้ำนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป อีกทั้งจำนวนมาก-น้อย จังหวะเวลาในการดื่มน้ำก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการของโรคต่างๆได้
เราอาจเคยได้ยินเรื่องการดื่มน้ำ 5 แก้วเพื่อรักษาโรคหรือดื่มน้ำมากๆจะทำให้สุขภาพดี เราก็พากันดื่มน้ำกันยกใหญ่ ดื่มกันอย่างผิดๆเพราะไม่เข้าใจว่าควรดื่มน้ำเวลาใด ดื่มน้ำไปทานอาหารไปหมดน้ำไปเป็นลิตร ดื่มน้ำอัดลมบ้าง น้ำเย็นบ้าง ก่อนนอนก็ดื่มน้ำอีกลิตร เป็นวิธีดื่มน้ำที่ผิด ถ้าท่านดื่มน้ำแบบนี้มันก็จะทำให้ท่านท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดลมในกระเพาะหรือกลางคืนต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ 2-3 ครั้ง ไม่ได้หลับได้นอนกันพอดี

ลองใช้วิธีที่ผมแนะนำให้คนไข้ของผมปฏิบัติเป็นประจำดูนะครับ
ซึ่งที่ผ่านมาคนไข้ที่ปฏิบัติดูแล้วได้ผลดีมาก เป็นเคล็ดลับการดื่มน้ำแบบง่ายๆที่ท่านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ตามขั้นตอนดังนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1. ดื่มน้ำให้เพียงพอกับน้ำหนักตัว
ร่างกายคนเรานั้นต้องประกอบด้วยน้ำ 60-70% เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวเรา ตามสูตรที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเอาไว้ คนเราในแต่ละวันต้องดื่มน้ำให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักของตัวเอง วิธีคำนวณก็คือ

เท่ากับว่าถ้าท่านหนัก 60 กิโลกรัม ต้องดื่มน้ำให้ให้ประมาณ 1.9 ลิตรต่อวัน หรือ เกือบ 10 แก้วนั่นเองครับ

ทำไมต้องดื่มน้ำให้ได้ขนาดนั้น?
เพื่อความสมดุลของน้ำในร่างกาย เพราะร่างกายคนเราประกอบด้วยน้ำถึง 2 ใน 3 ส่วน ถ้าร่างกายขาดน้ำ ธาตุไฟก็จะโหมกระหน่ำ ธาตุลมก็กำเริบ ธาตุดินก็แห้งแตกระแหง
หรือจะดูกันง่ายๆ เลือดเรานั้นต้องประกอบด้วยน้ำกว่า 60 % ถ้าขาดน้ำเลือดก็จะข้นหนืด ทำให้เลือดมันไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกายลำบาก หัวใจก็จะทำงานหนักในการสูบฉีดเลือด เส้นเลือดบางเส้นมีขนาดเล็กมากจนต้องใช้กล้องขยายส่องดูจึงจะมองเห็น ท่านลองคิดดูว่าเลือดที่มันข้นหนืดจะเข้าไปในเส้นเลือดเล็กๆเหล่านั้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ทำให้เส้นเลือดอุดตัน สมองขาดเลือด เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไป ดังนั้นผมว่าเราหันมาดื่มน้ำให้พอเพียงกับที่ร่างกายต้องการกันดีกว่าครับ

ขั้นตอนที่ 2. ดื่มน้ำตอนเช้าหลังตื่นนอน
ตื่นเช้าขึ้นมาผมแนะนำว่าอย่างแรกที่ท่านควรทำก่อนอย่างอื่นเลยก็คือ ดื่มน้ำให้ได้ 2-5 แก้ว ก่อนแปรงฟัน ดื่มน้ำอุ่นๆได้ยิ่งดี เพราะน้ำอุ่นนั้นดื่มง่ายกว่าน้ำธรรมดา และอุณหภูมิของน้ำที่ดื่มไม่ต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกาย ไม่เป็นการไปดึงอุณหภูมิของร่างกายให้เย็นลง
ทำไมต้องดื่มน้ำก่อนแปรงฟัน บางท่านแปรงฟันเสร็จแล้วก็จะไปทำธุระอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ อ่านหนังสือพิมพ์ ทานกาแฟ หรือทานข้าวเสร็จแล้วออกจากบ้านไปเลย จนลืมดื่มน้ำไป สาเหตุที่ให้ดื่มน้ำก่อนแปรงฟันก็เพื่อป้องกันไม่ให้ท่านหลงลืมการดื่มน้ำยังไงล่ะครับ หรือถ้าท่านใดรู้สึกรังเกียจขี้ฟันของตัวเองก็ดื่มหลังจากแปรงฟันเสร็จแล้วก็ได้ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่อย่าลืมดื่มน้ำละกันครับ
การดื่มน้ำตอนเช้ามีประโยชน์อย่างที่ท่านคาดไม่ถึงเลยครับ เพราะเป็นการชำระล้างทำความสะอาดระบบขับของเสียในร่างกาย ช่วงเช้านั้นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกำจัดพิษออกจากร่างกาย ร่างกายจะได้สะอาดแถมยังเป็นยารักษาโรคอย่างดีอีกด้วย เช่น ผู้ที่มีอาการท้องผูก ถ้าดื่มน้ำได้ 5 แก้วในตอนเช้า ร่างกายจะค่อยๆปรับสมดุล ภายใน 2 สัปดาห์ระบบขับถ่ายก็จะดีขึ้นเองโดยไม่ต้องกินยาระบายหรือยาถ่ายเลย เพราะยาถ่ายจะทำให้ลำไส้เสียการทำงาน เพราะถูกยากระตุ้นจนเคยชิน ขับถ่ายเองตามธรรมชาติย่อมดีกว่าเห็นๆครับ

ขั้นตอนที่ 3.หลีกเลี่ยงน้ำเย็น น้ำอัดลม นม
อุณหภูมิโดยปกติของร่างกายคนเรานั้นอยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส ถ้าเราดื่มน้ำเย็นๆ สัก 2 องศาเซลเซียส น้ำเย็นจะต้องไปดึงความร้อนของร่างกายมาทำให้อุณหภูมิของน้ำเท่ากับร่างกาย การดูดซึมจึงจะทำงานได้ ทำให้ร่างกายสูญเสียพลังงานและเสียเวลาในการปรับสมดุลให้คืนสู่ปกติ บางท่านเอาน้ำชาใส่กระติกน้ำแข็งแช่เย็นแล้วก็ดื่มทั้งวัน เวลาดื่มก็ชื่นใจดี แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่าท่านยิ่งดื่มมากเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งร้อนมากขึ้นเท่านั้น เพราะชามีฤทธิ์เย็นแม้ท่านจะดื่มแบบร้อนก็ตาม เมื่อชาเข้าไปอยู่ในร่างกายแล้ว ความร้อนของน้ำจะหายไป เหลือแค่ฤทธิ์ของชาซึ่งเย็น และไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อเราดื่มน้ำชาแช่เย็นแล้วตัวเราจะเย็นมากขึ้นเพียงใด เหมือนร่างกายเราถูกแช่เย็น แถมยังเกิดลมเกิดแก๊สขึ้นมาอีกต่างหาก

ส่วนน้ำอัดลมนั้น ท่านดื่มแล้วรู้สึกเย็นซ่าชื่นใจ จนบางคนติด ไม่ดื่มไม่ได้ จะดื่มทีก็ต้องดื่มแบบเย็นจัด แช่ตู้เย็นแถมใส่น้ำแข็งเพิ่มไปอีก ท่านลองคิดดูซักนิดว่าท่านได้อะไรจากน้ำอัดลมบ้าง นอกจากความเย็น น้ำตาล สารแต่งสี สารแต่งกลิ่น มีแต่สิ่งไม่มีประโยชน์ทั้งนั้นเลย น้ำอัดลมดื่มได้ครับแต่ขอให้ดื่มกับพอรู้รสชาติ อย่าได้ดื่มกันเป็นกิจวัตรจนแทนน้ำ แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรงดไปเลยดีกว่าครับ
และนม ที่หลายท่านพยายามสอนให้ลูกให้หลานดื่มกันด้วยความเชื่อว่านมนั้นมีประโยชน์เหลือหลาย ว่าจะทำให้ตัวโตแข็งแรง แคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก ชาวเอเชียเมื่อหย่านมแล้วร่างกายจะไม่ย่อยน้ำตาลแลกโตสในนม และสารเคซินในนมจะเหนียวจับตัวเป็นลิ่มเป็นก้อนทำให้กระเพาะอาหารทำการย่อยสารเหล่านี้ลำบาก และยังนิยมดื่มนมที่มีรสหวาน ดื่มนมแช่เย็นกันอีก ความหวานและความเย็นจากนมที่ท่านชอบดื่มกันก็สามารถสร้างปัญหาให้ร่างกายท่านได้ไม่ต่างอะไรจากน้ำอัดลมเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 4.ดื่มน้ำให้ถูกเวลา
– 15 นาทีก่อนทานอาหาร
-ระหว่างทานอาหาร
– รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ
ทั้งสามกรณีที่ผมยกมานี้เป็นช่วงเวลาที่คนเรามักดื่มน้ำ การดื่มน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นการดื่มน้ำที่ผิดเวลาอย่างมาก และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยได้
ถ้าท่านดื่มน้ำก่อนทานอาหาร น้ำที่ท่านดื่มเข้าไปมันก็ไปเจือจางน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และพอท่านทานอาหารตามเข้าไป น้ำย่อยที่เข้มข้นสำหรับย่อยอาหารมันกลับเจือจางเสียแล้ว ทำให้การย่อยอาหารไม่ดี อาหารไม่ย่อยและเกิดการหมักหมมในกระเพาะอาหาร พอเกิดการหมักหมมในกระเพาะอาหารเมื่อไหร่ก็เกิดพิษในร่างกายขึ้นมาเมื่อนั้น พิษที่เกิดขึ้นมาก็เป็นสาเหตุอาการเจ็บป่วยทั้งหลาย เช่นเดียวกับการที่ท่านดื่มน้ำระหว่างทานอาหาร หรือดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ จะทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี

สาเหตุง่ายๆที่ท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าการดื่มน้ำผิดเวลาก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ แต่แก้ไขได้ง่ายๆครับ ด้วยวิธีดังนี้
1. ระหว่างทานอาหารควรดื่มน้ำแต่น้อย อย่างมากไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อให้น้ำย่อยมีประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้เต็มที่
2. หลังทานอาหารเสร็จแล้ว 40 นาที ค่อยดื่มน้ำตามปกติ เพื่อให้กระเพาะได้ทำการย่อยอาหารเสียก่อน
3. และที่สำคัญไม่ควรดื่มน้ำเย็น ในการย่อยอาหารนั้นกระเพาะต้องใช้ไฟในการย่อยอาหาร ถ้าท่านดื่มน้ำเย็นเข้าไป ความเย็นจะเข้าไปดับไฟในกระเพาะ และเป็นสาเหตุให้อาหารไม่ย่อย บางท่านอาจจะบอกว่าเวลาไปทานร้านอาหาร เขาก็ให้แต่น้ำเย็นทั้งนั้น ก็ขอให้ท่านดื่มแต่น้อยดีกว่าครับ
กระเพาะอาหารมีธาตุไฟ “ปริณามัคคี” คือไฟสำหรับย่อยอาหาร ที่จะย่อยอาหารให้เป็นสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ถ้าไฟธาตุนี้พิการ อาหารก็จะไม่มีไฟในการย่อย ก็จะเกิดอาหารท้องอืด ท้องพอง ผะอืมผะอม อาเจียน ร้อนในอกในใจ บวมตามมือตามเท้า บางคนไอไม่หายเพราะกินแต่ยาแก้ไอ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เพราะต้นเหตุที่แท้จริงคือกระเพาะอาหารย่อยอาหารไม่ได้ แล้วเกิดการหมักหมมเกิดเป็นแก๊สพิษ Toxin ในร่างกายและกระแสเลือด

ผมมีตัวอย่างผู้ป่วย 2 ท่านที่มีอาการเจ็บป่วยจากน้ำเป็นสาเหตุมาให้ท่านลองพิจารณาดูกันว่า น้ำจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยได้อย่างไรบ้าง

ท่านแรกเป็นผู้ชาย อายุ 32 น้ำหนัก 57 กก มีอาการเจ็บใต้น่อง ตั้งแต่เส้นกระเพาะปัสสาวะ เดิน ยืดขาตรงๆไม่ได้ ต้องงอขาเอาไว้ เคยเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นวดแล้วก็หาย แต่ 2-3 เดือนที่แล้วอาการกำเริบขึ้นมา กีฬาที่เคยเล่นทั้งแบดมินตัน บาสเกตบอลปัจจุบันนี้เล่นไม่ได้เลย เพราะแม้แต่ยืนยังไม่ไหว ปวดตั้งแต่ก้นกบ สลักเพชร ลงไปที่ขา มันเป็นเพราะสาเหตุจากอะไร เราลองมาดูพฤติกรรมของผู้ป่วยท่านนี้กันนะครับ

เริ่มตั้งแต่เช้า นอนดึก ตื่น 7 โมง ไม่ทานอะไรเลย ไม่ว่าน้ำหรืออาหาร แต่มาทานอาหารเอาตอน 11 โมงและตอนหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม ดื่มน้ำเฉพาะตอนทานหลังอาหารเท่านั้น จะไม่ดื่มน้ำเวลาอื่นเลย ระหว่างวันก็จะไม่ค่อยดื่ม น้ำที่ดื่มก็เป็นน้ำเย็นใส่น้ำแข็ง เขาทานอาหารสองมื้อ ดื่มน้ำรวมกันแล้ว 3 แก้ว บางครั้งก็ทานน้ำอัดลมบ้าง สัปดาห์ละ2-3ครั้ง ไม่ทานกาแฟ ดื่มเบียร์บ้าง ถ่ายอุจจาระทุกวัน ปัสสาวะไม่บ่อย เพราะดื่มน้ำน้อยก็ไม่รู้จะเอาปัสสาวะมาจากไหน โดยปกติแล้วน้ำหนักตัวอย่างผู้ป่วยท่านนี้ต้องดื่มน้ำเกือบ 8-10 แก้วต่อวัน ถึงจะทำให้เลือดเดินได้ดี เลื่อดจะได้ไม่หนืดไม่ข้น และเลือดจะได้พาอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่ายกายได้

ผมลองจับตัวเขาดู ช่วงบนของร่างกายมีอาการร้อนบ้าง แต่ช่วงล่างตั้งแต่ท้องน้อยลงนี่เย็นเยือกเลย เท้าซึ่งปกติจะต้องมีสีแดงหรือสีชมพูแสดงว่าเลือดไหลได้ดี แต่เท้าของเขาสีซีดขาวเลย ไม่มีเลือด ขาไม่มีกำลัง ขาหนัก เหมือนท่อนไม้ไม่มีชีวิตชีวา แสดงว่าเลือดลมไหลฝืดมาก ผมลองจับเส้นชีพจรที่ขาหนีบ ก็พบว่าเส้นเลือดเต้นได้ค่อย และน้อยมาก

ดูจากพฤติกรรมแล้วอาการทั้งหมดแล้ว ก็สรุปได้ว่า การดื่มน้ำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เลือดข้นและหนืด เลือดที่ไหลอยู่ในร่างกายแล้วไม่ดี ถึงแม้จะมีหมอนวดที่เก่งแค่ไหนก็แล้วแต่ คงไม่สามารถช่วยเขาได้ ถ้าเขาไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเอง ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ขาของเขาก็จะเดินไม่ได้ ต่อมาศีรษะก็จะมีปัญหาเพราะเลือดไม่สามารถขึ้นไปเลี้ยงสมองได้เลย

คนไข้อีกรายเป็นผู้หญิงครับ เป็นแม่บ้าน มีอาการชา มือชา แขนชา หัวไหล่ชา ปวดหัวเข่า ไปโรงพยาบาล หมอก็ให้ยาคลายเส้นตลอด ผมตรวจดูลิ้นของคนไข้แล้วพบว่าลิ้นแห้ง เป็นฝ้าเหลือง แสดงว่ามีอาการร้อนชื้นข้างใน เป็นความดัน นอนไม่ค่อยหลับ ตื่นเช้าตั้งแต่ตีห้าครึ่ง แล้วก็ไม่ทานอะไร มาทานเอาตอนสิบเอ็ดโมงถึงเที่ยง กว่าจะทานอีกทีก็ตอนเย็นจะดื่มน้ำก็ตอนทานอาหาร ดื่มน้ำเย็นใส่น้ำแข็งตลอด วันๆหนึ่งก็ไม่ค่อยได้ดื่มน้ำเลย พฤติกรรมเหมือนผู้ป่วยท่านแรกเลยครับ

จากที่ผมได้ตรวจดูแล้ว ขาแข็งมาก หนัก ยกแทบไม่ขึ้น ไม่มีเลือดเลยเหมือนท่อนไม้ คอก็แห้ง นี่เป็นตัวอย่างของอาการป่วยที่เกิดจากการดื่มน้ำที่ไม่ถูกต้อง คนเราปกติแล้วต้องดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว แต่เขาดื่มเพียง 3 แก้วต่อวัน แล้วอย่างนี้จะมีเลือดไหลไปเลี้ยงบ่า เลี้ยงไหล่ เลี้ยงแขนได้อย่างไร แค่เลี้ยงตัวก็จะไม่มีอยู่แล้ว ยิ่งขาแล้วจับชีพจรดูก็เต้นได้น้อยมาก เลือดแทบไม่ไหลเลย ดังนั้นขาของเขาจึงเกิดปัญหา มีอาการปวด

การบำบัดรักษาให้ผู้ป่วยท่านนี้ ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเสียใหม่ โดยให้ทั้งสองท่านดื่มน้ำให้มากขึ้น วันละประมาณ 10 แก้ว เช้าตื่นมาก่อนแปรงฟันก็ดื่มน้ำอุ่นซัก 2-5 แก้ว จะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น การหมุนเวียนของน้ำก็จะดีขึ้น อาการต่างๆก็จะดีขึ้น เพราะว่าน้ำจะพาเลือดซึ่งเป็นอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายก็จะได้รับอาหาร เมื่อได้รับอาหารแล้วมันก็จะทำงานไปตามหน้าที่ของมัน เป็นการปลุกอวัยวะต่างๆให้ลุกขึ้นมาทำงานได้ปกติ คือการสร้างพลังบำบัดให้ร่างกายเรา โดยไม่ต้องไม่พึ่งยามากนัก

จะมีบ้างบางกรณีที่ต้องใช้ยา เช่น ยาคลายเส้น เพื่อให้ขับถ่ายเอาของเสีย เอาลม เอาเสมหะ เอาอุจจาระออกจากร่างกาย เพื่อให้รับของใหม่ได้เต็มที่ ของใหม่ก็จะถูกสร้างเป็นอาหาร เปรียบเสมือนว่าถ้าร่างกายสกปรกเกินไป ก็จะมีแบคทีเรีย มีจุลินทรีย์เสียๆ อยู่ ถ้าไม่เอาของเสียออกจากร่างกายแล้ว เราจะใส่อะไรลงไป เชื้อโรคเหล่านั้นก็จะทำให้ของดีๆเสียหมด แต่ถ้าเราเปลี่ยน เอาของไม่ดีออกจากร่างกายเสียก่อน อาหารที่ทานเข้าไปก็จะไปสร้างจุลินทรีย์ที่ดีๆขึ้นมา ถ้าเราใส่ของดีเข้าไปร่างกายก็มีสุขภาพดีตลอด ของเสียที่ค้างอยู่ในร่างกายก็จะถูกลากออกไปอยู่ที่ว่าพวกใครมากกว่ากัน

ถ้าพวกดีมากร่างกายก็จะได้ของดี ถ้าพวกไม่ดีเยอะกว่าร่างกายก็จะได้แต่ของไม่ดีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิธีง่ายๆแค่นี้ครับ เอาของเสียออกจากร่างกาย ผลัดเก่าเป็นใหม่ โรคภัยต่างๆก็จะค่อยๆดีขึ้นเองครับ

โดย
www.the-arokaya.com

Share

เหตุสมควรโกรธ… ไม่มีในโลก

เหตุสมควรโกรธ… ไม่มีในโลก
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
————————————-

 

ชีวิตคือทุกข์… ไม่มากก็น้อย
ชีวิตคนเราดูแล้วหลากหลายแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
ชีวิตของ      เด็กเล็ก ๆ อายุ 3-4 ขวบ
ชีวิตของ      คนเต่าคนแก่ อายุ 100 ปี
ชีวิตของ      คนยากจน ขอทานข้างถนน
ชีวิตของ      มหาเศรษฐี
ชีวิตของ      คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ชีวิตของ      คนจบปริญญาเอก
ชีวิตของ      นักโทษประหาร
ชีวิตของ      ผู้ได้รับเกียรติเป็นบุคคลตัวอย่าง
ชีวิตของ      นักเลงพนัน
ชีวิตของ      ผู้ดีในสังคม

แต่ดูลึก ๆ แล้ว ชีวิตเราก็พอ ๆ กัน
ในความรู้สึก สุข ทุกข์ ดีใจ พอใจ สุขใจ
โกรธ น้อยใจ เสียใจ กลัว ฯลฯ

ทุกข์ร้อน ทุกข์หนาว ทุกข์แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวก็มี แต่คนเราเกลียดทุกข์ กลัวทุกข์ พยายามหนีจากทุกข์ แสวงหาความสุขทั้งนั้น ตามสติปัญญาและความสามารถของแต่ละบุคคล หัวใจของมนุษย์ต่างก็เรียกร้อง “ความสุข ๆ ๆ” กันทุกคน แต่ที่เราหนีไม่พ้นจากทุกข์ เพราะพวกเราอยู่ในท่ามกลางไฟกันทั้งนั้น

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ไฟ      คือ      โทสะ
ไฟ      คือ      โลภะ
ไฟ      คือ      โมหะ

เมื่อเราสามารถดับไฟได้ เมื่อนั้นก็เย็นสงบสุข
ไฟโทสะร้ายกาจ เป็นข้าศึกต่อความสุข
ถอนโทสะเพียงสิ่งเดียวออกจากจิตใจ
ก็จะไม่ต้องต่อสู้กับคนรอบตัว โลกทั้งหมดจะสงบเย็น
มีแต่คนน่ารัก มีแต่คนน่าสงสาร ควรแก่การเมตตากรุณา

ไฟเสมอด้วยความโกรธไม่มี
พระพุทธเจ้าเปรียบความโกรธว่าเหมือนไฟ
เช่นไฟไหม้ป่า เผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า
ความโกรธ มีพลัง มีอำนาจทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง
ยิ่งกว่าไฟไหม้ป่าเสียอีก มีแต่โทษ ไม่มีคุณแม้แต่นิดเดียว

จะเห็นได้ว่าคนโบราณมีการอบรมสั่งสอนลูกหลานให้กลัว
และระมัดระวังไฟ เพราะอันตรายมาก โดยเฉพาะ ไฟไหม้บ้าน
ไฟไหม้ป่า ล้วนเผาทำราย พรึบเดียว ชั่วข้ามคืน
ทำลายทั้งทรัพย์สมบัติจนหมดตัว และยังอาจทำลายชีวิตคนบางครั้งเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ คนทีเดียว

แต่ความโกรธ อันตรายยิ่งกว่าไฟ ไฟเสมอด้วยโกรธไม่มี
เพราะความโกรธจะทำลายแม้แต่น้ำใจเรา
คนที่เรารักสุดหัวใจก็ดี คนที่รักเราก็ดี
ชื่อเสียง คุณงามความดีที่สะสมไว้ตั้งแต่อเนกชาติ
ถูกทำลายย่อยยับได้ด้วยความโกรธ
ความโกรธ โมโห ครั้งเดียว สามารถทำลายได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
น่ากลัวยิ่งกว่าไฟไหม้ !!!!!
ความโกรธนี้ฆ่าผู้มีพระคุณมาหลายต่อหลายคนแล้ว
ฆ่าคนที่เรารัก คนที่รักเรา คู่รักที่ต่างรักใคร่ชอบพอกัน
บางครั้งในที่สุด ความโกรธก็ทำให้เลิกร้างกัน
ทำให้ชีวิตครอบครัวต้องแตกแยก
จนถึงทำให้ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูกก็มี
ผู้ใหญ่ในระดับประเทศโกรธกัน จนเป็นเหตุให้กลายเป็นสงคราม
ฆ่ากันตาย เป็นพัน ๆ หมื่น ๆ แสน ๆ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายที่เราเห็นกันด้วยตา
นับแต่มด ยุง กบ เขียด แมว สุนัข วัวควาย มนุษย์
อย่างน้อยชาติหนึ่งเคยเป็นพี่น้องกันในวัฏสงสารที่ยืดยาว
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเคยรักกันเกลียดกันมาอย่างนี้
จนทุกวันนี้ และต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ
ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรประมาท ทำใจให้สงบน้อมเข้ามาสู่ตน
พิจารณาดูว่า มีใครบ้างที่เราอาฆาตพยาบาท ถ้ามีรีบให้อภัย
อโหสิกรรมเสียแต่บัดนี้ อย่างน้อยก็ชาตินี้ ก่อนตาย
จะได้ไม่ต้องเป็นคู่เวรคู่กรรมกันอีกต่อไป อย่าคิดว่า
ต่างคนต่างอยู่ ไม่เป็นไร แม้จะอยู่คนละจังหวัด
คนละประเทศก็ตาม ก็จะมีโอกาสพบกันในชาติหน้า
และมีโอกาสมากด้วย ถ้าหากมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น
ดูใจของตน ก็เห็นชัด คิดถึงใครก็ดี คิดแค้นอาฆาตพยาบาทใครก็ตาม

นั่นแหละ! ระวังให้ดี
ต่อไปจะเกิดมาพบกัน
และทำความเดือดร้อนให้แก่กัน
นับภพนับชาติไม่ถ้วน

ฉะนั้น ไม่ให้คิดมีเวรแก่กัน จงให้อภัย และอโหสิกรรมแก่กัน
ไม่ให้คิดอาฆาตพยาบาท ไม่ให้คิดเบียดเบียนกัน
มีแต่ปรารถนาดีต่อกัน พยายามทำแต่กรรมดีให้ทาน
เอื้อเฟื้อกัน มีปิยวาจา พูดดี พูดไพเราะ
ทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม วางตนเหมาะสม
เสมอต้นเสมอปลาย การประพฤติปฏิบัติต่อกันอย่างนี้
จะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในปัจจุบัน
และเป็นการสร้างกรรมดีต่อกัน

อนาคตถ้าเกิดมาพบกันอีก
ก็จะเป็น พี่น้อง เพื่อนฝูงที่ดีต่อกัน
เกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ไฟไม้บ้าน – ดับไฟก่อน

เมื่อเรากระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ จะโกรธ อยากโกรธ
หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ
จนกว่าใจจะสงบสบาย เมื่อเราไม่พอใจ ไม่ต้องคิด
อย่าคิดไปตามอารมณ์ คิดว่า ทำไมเขาทำอย่างนี้
เข้าไม่น่าทำเช่นนี้

พิจาณาดู… สมมติเมื่อเรากำลังกลับบ้าน
มองเห็นควัน มีไฟลุกขึ้น ไฟกำลังไหม้บ้านของเรา
ถึงแม้เรามองเห็นว่า มีใครวิ่งหนีไปก็ตาม
เราไม่ต้องคิดสงสัยว่า เขาเป็นผู้ร้ายหรือเปล่า
สิ่งที่ต้องทำก่อนทุกอย่างคือ วิ่งเข้าไปหาทางดับไฟ
ให้เร็วที่สุด หาน้ำ หาเครื่องดับไฟ ผ้าห่ม ฯลฯ
ทำดีที่สุดเพื่อที่จะดับไฟให้สำเร็จ

เมื่อดับไฟแล้ว จึงค่อยคิดหาสาเหตุว่า ทำไมจึงเกิดไฟไหม้
เช่น เป็นอุบัติเหตุ หรือมีใครลอบวางเพลิง
มีใครประสงค์ร้ายคิดทำลายทรัพย์สมบัติของเราหรือไม่

เมื่อเกิดอารมณ์ไม่พอใจ ไม่ต้องคิดหาเหตุว่าใครผิด ใครถูก
ระงับความร้อนใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน
หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ เมื่อใจสงบแล้ว
จึงค่อยคิดด้วยสติ ปัญญา ด้วยเหตุผล

ละความโกรธด้วยรักและเมตตา

เมตตาตรงข้ามกับโทสะ และพยาบาท
ซึ่งเป็นความโกรธ ความมุ่งร้าย
เมตตาเป็นความรัก ความปรารถนาดีให้มีความสุข
เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความรักที่เป็นราคะคือความใคร่
ดังนั้นหากเราหมั่นอบรมจิตให้เมตตาตั้งขึ้นในจิตใจได้
จิตใจก็จะพ้นจากโทสะพยาบาท

เพื่อให้มีเมตตาเป็นพื้นฐานของจิต เราควรพิจารณาว่า
ตัวเรารักสุข เกลียดทุกข์ฉันใด
คนอื่น สัตว์อื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์ฉันนั้น
ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ จะต้องทำใจตัวเองให้มีเมตตาก่อน
คือทำจิตใจตัวเองให้อ่อนโยน สงบเย็น
แล้วจึงแผ่เมตตาแก่ผู้อื่น
เพราะการจะแผ่สิ่งใดออกมาได้
จิตใจจะต้องมีคุณสมบัตินั้นอย่างแท้จริง

การเจริญเมตตาภาวนา
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของจิตเป็นประภัสสร
บริสุทธิ์ผ่องใส โดยธรรมชาติ ความเบิกบานใจ สุขใจ นั้นมีอยู่
เป็นอยู่แต่ดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้ ที่พวกเราไม่ค่อยสบายใจ ทุกข์ใจ
เพราะมีอารมณ์ กิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำจิต

เราสามารถเจริญสติน้อมเข้าไปสัมผัสความเบิกบานใจ
สุขใจที่มีอยู่ได้ หน้าที่ของเราคือ ต้องสร้างกำลังใจ เจริญสติ
สมาธิ ปัญญา รู้จักกุศโลบายที่จะน้อมเข้าไปสุ่ธรรมชาติ
ของจิตประภัสสร โดยมีวิธีปฏิบัติ
ในการเจริญเมตตาภาวนา ดังนี้

วิธีปฏิบัติ

น้อมเข้ามาที่ลมหายใจ
ข้าศึกต่อความสุข คือความคิดผิด ความคิดไม่ดีของตนเอง ไม่ใช่การที่เขากระทำดีหรือไม่ดีต่อเรา
ไม่ว่าเขาจะไม่ดีขนาดไหน ถ้าใจเราดีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ศัตรูร้ายกาจที่แท้จริ คือ ใจไม่ดี ความคิดไม่ดีของตนนั่นเอง

ผู้เจริญเมตตาภาวนา ควรระวังรักษาใจ
ระวังความคิดผิดให้มากที่สุด อะไรไม่ดี อย่าคิดเลย
สุขภาพไม่ดี อากาศไม่ดี รัฐบาลไม่ดี
ถึงแม้ใครทำอะไรผิดจริง ๆ ผิดมากขนาดไหน
ก็ไม่ต้องคิดว่า “ใคร” หรือ “อะไร” ไม่ดี

เริ่มต้นปรับท่านั่งให้สบาย ๆ หยุดคิด ทำใจสบาย ๆ หายใจสบาย ๆ
บางครั้งจิตใจไม่เบิกบาน มีความรู้สึกไม่ดี เศร้า ๆ ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ
หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ
ทำความรู้สึกคล้ายกับว่า หนีจากความรู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ
น้อมเข้าไปอยู่กับลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
ตั้งสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วถึงลมหายใจ
ปรับลมหายใจสบาย ๆ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
น้อมเข้าไปอยู่กับลมหายใจ ละลายความรู้สึกเข้าไปในลมหายใจ
จนรู้สึกกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ
มีความรู้สึกตัวทั่วถึง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

พร้อมกับระลึกถึงปีติ สุข
ทุกครั้งที่ หายใจเข้า หายใจออก
จิตใจของเราจะเบิกบาน สงบ สบาย มีปีติสุข
เท่ากับว่า หายใจเข้า หายใจออก คือ สุขใจ สบายใจ
หายใจเข้าสบาย ๆ มีปีติสุข สบายใจ สุขใจ
หายใจออกสบาย ๆ มีปีติสุข สบายใจ สุขใจ

ดึงปีติสุขในใจออกมา
เริ่มต้น ปรับท่านั่งสบาย ๆ
หยุดคิด ทำใจสงบ ปรับลมหายใจสบาย ๆ
น้อมเข้าไป ตั้งสติที่กลางกระดูกสันหลัง ระดับหัวใจ
สมมติว่าศูนย์กลางของจิตใจ อยู่ที่นั่น
เป็นจิตประภัสสร บริสุทธิ์ ผ่องใสโดยธรรมชาติ
ความเบิกบานใจ ปีติสุข อยู่ที่นั่น
ทำความรู้สึกว่า จุดนั้นเป็นจุดร้อน ๆ
ความรู้สึกร้อน ๆ และปีติสุข
ลักษณะเหมือนไอน้ำ ระเหยออกมาจากที่นั่น

หายใจเข้า ดึงเอาปีติสุขออกมา
คล้ายกับว่า ใช้นิ้วค่อย ๆ ดึงออกมาเรื่อย ๆ
หายใจออก ตั้งสติอยู่ข้างใน
ความรู้สึกที่ดี ดันออกมาข้างหน้าต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ
อุปมาเหมือนกับว่ามีหมอนใบหนึ่งมีรูเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง
เราเอานิ้วจับอยู่ที่ปุยนุ่นแล้วค่อย ๆ ดึงออกมาเรื่อย ๆ

สมมติให้กลางกระดูกสันหลัง เป็นจุดศูนย์กลางของจิตประภัสสร
เป็นจุดสัมผัสกับพุทธภาวะ คือภาวะแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า
และอริยะสาวกทั้งหลาย เป็นเมตตา กรุณา ปีติสุข
ที่มีอยู่ในจักรวาล ไหลออกมาผ่านจุดศูนย์กลางจิตใจของเรา
อุปมาเหมือนท่อที่มีสายน้ำไหลแยกออกมาจากทางน้ำใหญ่

เมื่อเราฝึกจนชำนาญแล้ว จะรู้สึกว่าการหายใจคือปีติสุข
ความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ สัมผัสกับเราแต่เพียงส่วนหน้า
เราน้อมเข้าไป ตั้งสติอยู่ที่สุดกลางกระดูกสันหลัง
เมื่อความรู้สึกที่ดี ปีติสุข ไหลออกมาแล้ว
ความรู้สึกที่ไม่ดี ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในใจเราจะมีปีติสุข
เป็นความรู้สึกที่ดี สบายใจ สุขใจ

เมื่อชำนาญแล้ว เราไม่ต้องตั้งใจหรือใช้อุบาย
เมื่อหายใจเข้า หายใจออก ตามปรกติ
ความรู้สึกที่ดี และปีติสุขจะไหลออกมาเรื่อย ๆ
เหมือนลมหายใจและปีติสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปล่อยวางความโกรธให้เร็วขึ้น
เมื่อเรามีนิสัย ขี้โกรธ ขี้โมโห เห็นอะไร ได้ยินอะไร กระทบอารมณ์
คงจะห้ามความโกรธไม่ได้
ก็ไม่ต้องห้าม ให้โกรธตามเคยนั่นแหละ
แต่พยายามปล่อยวางให้เร็วขึ้น ไม่ผูกใจเจ็บ ให้อภัย
ให้อโหสิกรรมให้เร็วขึ้น เช่น เรารู้อยู่ว่าปกติโกรธขนาดนี้ จะไม่สบายใจอยู่ 3 วัน
พยายามปล่อยวางภายใน 2 วัน จากนั้นลดให้เหลือ 1 วัน
3 ชั่วโมง จนเหลือ ครึ่งชั่วโมง เป็นต้น
การต่อสู้กับอารมณ์โกรธ ให้เอาหัวใจนักกีฬามาสู้

อย่าเอาจริงเอาจังกับเหตุการณ์ณ์จนเกินไป
โอปนยิโก น้อมเข้ามาดูใจ ดูอารมณ์
เอาสติปัญญา ต่อสู้กับอารมณ์ตัวเอง
ให้มีความพอใจ ความสุขในการแก้ปัญหา แก้อารมณ์ของตน
เมื่อเราเห็นความก้าวหน้า ในการต่อสู้กับอารมณ์แล้ว
ลึก ๆ ภายในใจก็จะมีความพอใจ
ในท่ามกลางความโกรธได้เหมือนกัน

พิจารณาธรรมชาติของอารมณ์โกรธ
ตามสติกำลังของตัวเองก่อน เมื่อเข้าใจดีแล้ว
ปล่อยวางความรู้สึกโกรธ ตั้งสติที่ท้อง หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ
หายใจเข้าตามปกติ เน้นที่หายใจออกยาว สบาย ๆ
ทำเช่นนี้จะช่วยผ่อนคลาย กายเย็น ใจเย็น
อารมณ์สบาย ๆ มีความสบายใจ

ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข

ความโกรธ ไม่ว่ามากหรือน้อย โกรธนาน หรือไม่นาน
ล้วนทำลายความสุข ทำลายสุขภาพ เป็นโทษต่อตัวเอง และคนรอบข้าง
สำหรับผู้มีสติปัญญาแล้วจะเห็นความโกรธ
เป็นอารมณ์ของผู้ไร้ปัญญา   ย่อมหลีกเลี่ยงคนมักโกรธ

ตัดความโกรธด้วยความมีสติข่มใจ
และถอนรากเหง้าของความโกรธด้วยเมตตาภาวนา
พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญการฆ่าความโกรธไว้ว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข
บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมไม่โศกเศร้า

Share