เรื่อง :กมลวรรณ มักการุณ
โดย : Nation Group
โรคร้ายที่รุมเร้า กว่าจะรู้ตัวก็แก้ไขแทบไม่ได้ แม้จะทำงานมีเงินมากมาย แต่ก็ไม่อาจรักษาเยียวยาให้หายได้
ต ลอดชีวิต “พัฒนพงษ์ สมบูรณ์เถกิง” ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหนัก ไม่เคยหยุด ไม่คิดจะลา ชีวิตบางเสี้ยวขาดหายไป เมื่อรู้ตัวอีกครั้งว่าเป็นมะเร็งในตับ เขานึกย้อนเสียใจว่าที่ผ่านมา “สมดุลแห่งชีวิต” และเพิ่งเข้าใจว่า
การทำงานต้อง “work smart ไม่ใช่ work hard”
โรคร้าย ที่แม้จะมีเงินนับร้อยนับพันล้าน ก็ไม่อาจรักษาเยียวยาให้หายได้ นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพร่างกายแล้ว สภาพจิตใจของผู้ที่เป็น คงไม่ต่างอะไรกับดอกไม้เฉาๆ ที่รอวันโรยรา…
แต่นั่นคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ “พัฒนพงษ์ สมบูรณ์เถกิง” ที่ปรึกษาใหญ่ของ บริษัทรอยัลแอนด์ซันอัลลายอันซ์ ประกันภัย เป็นอยู่
“พัฒนพงษ์” เคยอยู่ในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารของ “รอยัลแอนด์ซันอัลลายอันซ์” บริษัทซึ่งเขาได้ร่วมงานมา นับตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างตัว จนถึงวันนี้…วันที่บริษัทสร้างเบี้ยประกันได้ ปีละนับพันล้านบาท แต่เขาต้องลงจากเก้าอี้ “ซีอีโอ” ก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลของ “สุขภาพ”
แม้ “พัฒนพงษ์” จะต้องเผชิญกับ “มฤตยูเงียบ” ที่คร่าชีวิตคนไทยในอันดับต้นๆ อย่างโรคมะเร็งในตับ และรู้ตัวดีว่า…เวลาของเขา อาจเหลือไม่มากเท่าคนอื่นก็ตาม แต่เขาก็ยังเดินหน้างานสร้างกองทุน “อโรคยา” เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ประสบโรคร้าย เหมือนกับเขา เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจและวิธีป้องกันโรคร้ายนี้
ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากกำลังใจ ที่ยังคงเต็มเปี่ยม การดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย การเพียรนั่งวิปัสสนาติดต่อกันหลายปี รวมถึงเส้นทางชีวิตที่เขาบอกว่า เริ่มต้นมาจาก “ศูนย์”
“พัฒนพงษ์” บอกว่าเขาคือ เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่เข้ากรุง โดยสอบติด ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย
เราเน้น การผสมผสาน ระหว่างความรวดเร็ว และความเสี่ยงในผลงาน พยายามทำบัญชีอำนาจ ให้ออกมาเพื่อสร้างสมดุล ในสองประเด็นคือ ให้เกิดความรับผิดชอบ กับตัวพนักงาน เพราะจะทำให้เขาผูกพันกับงาน มีความกระตือรือร้น มีการยอมรับในการตัดสินใจมากขึ้น
” ผมมาจากนครนายก ปีที่เข้ากรุงเทพฯ นั้น มีแค่ 2 คนจากนครนายกที่สอบติดเตรียมฯ ประมาณปี 2520 สมัยก่อนเข้ายากมาก สอบเป็นหมื่นๆ คน จากนั้นก็เอนทรานซ์ติดธรรมศาสตร์ ต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ แต่ผมไม่เคยคิดเลยนะว่าต้องมาทำงานด้านประกันภัย เพราะว่าพอเอนทรานซ์ติดในคณะที่ตัวเองชอบคือคณะนิติศาสตร์ ก็คิดอย่างเดียวว่าจะเป็นผู้พิพากษาให้ได้”
“จุดหักเห” ที่ทำให้เขาพลิกผันตัวเอง จนมายืนอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ของธุรกิจประกันภัยนั้น เขาเล่าว่า ” ผมทำงานก่อนคนอื่น ตั้งแต่อยู่เตรียมฯ ผมก็เป็นเซลล์ขายยา ช่วยเค้าขาย พออยู่ปีหนึ่งก็มาทำงานเป็นบ๋อยโรงแรม ซึ่งมีโอกาสได้ฝึกภาษาและได้เงินเยอะ
พ อปีสอง อายุประมาณ 18 ผมก็เลิกทำงานบ๋อย เพราะเพื่อนชวนมาทำงานเซอร์เวย์ประกันภัยกับบริษัท ซี.ซี.ลอว์ (C.C. Law) รายได้ก็เริ่มดีขึ้น ก็ส่งเสียตัวเองเรียนตลอด และให้เงินแม่ด้วย ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตประกันภัย”
นั่นทำให้เขามองเริ่มเห็นความน่าสนใจ และความท้าทายในแวดวงประกันภัย
พอเริ่มทำงานนี้ “พัฒนพงษ์” ก็มองเห็นว่า ทำงานด้านประกันภัยมันก็ “ไม่เลวนะ” และยังได้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายด้วย
“แต่ผมเป็นคนทะเยอทะยาน พออยู่ที่นี่ได้สามปี ก็เริ่มคิดต่อไปอีกว่า เอ ผมจะอยู่อย่างนี้เหรอ วิ่งต๊อกแต๊กๆ ฝนตกแดดออกไปทำเคลม ซึ่งเด็กๆ ก็ทำได้
พออายุมากขึ้นก็ไม่เอาดีกว่า มันเริ่มเบื่อ แต่ยังคิดถึงประกันภัยอยู่ คำว่าผู้พิพากษาเริ่มจางออกไปแล้ว
พอดีตอนนั้นทางศรีเมือง ที่มีบริษัทโตเกียวมารีน จากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้น เขารับสมัครพอดี ก็เลยไป เค้าก็รับเลย เพราะผมภาษาดี”
“พัฒนพงษ์” เข้าไปเป็นพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ และบริการสินไหมรถยนต์ เป็นงานประจำงานแรก
ทำงานอยู่ที่นี่สามปี จนเรียนจบก็เริ่มคิดว่า “เราน่าจะไปได้ดีกว่านี้”
“อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนทะเยอทะยาน แต่งานนี้มันเหมือนเดิม ไม่มีความหลากหลาย ไม่มีความก้าวหน้าในงาน”
ดังนั้นเมื่อ “บริษัทรอยัลแอนด์ซันอัลลายอันซ์” หรือ “สันติภาพประกันภัย” ในขณะนั้นเปิดรับสมัครพนักงาน ทางเดินอีกสายหนึ่งในชีวิตของ “พัฒนพงษ์” จึงเริ่มขึ้น…
“ผมก็คิดแล้วว่าอยู่กับญี่ปุ่นคงไม่รุ่ง คือเค้าจะสุมหัวกันคิดแล้วก็สั่งเรา เขาจะไม่ให้คนไทยคิด เลยคิดว่าไม่ก้าวหน้าแน่ ผมจึงมาสมัครที่นี่ (สันติภาพประกันภัย) ผมรู้จักกับจีเอ็มที่ศรีเมือง ที่ย้ายออกมาเป็นรองจีเอ็มที่นี่
ผมบอกเขาว่า ผมอยากทำงานที่นี่ เขาก็เงียบไปเลย 2 อาทิตย์ ผมก็โทรไปถามว่าตกลงว่ายังไง เค้าบอกว่าอ๋อ เค้าคุยให้แล้วแต่ไม่อยากบอกผม เพราะฝรั่งให้นิดเดียวเอง อยู่ที่ศรีเมืองผมได้หมื่นกว่า แต่ที่นี่ให้ 5,500
ผมก็บอกว่า เฮ้ย! เอาเลย ผมอยากทำ”
เ หตุผลที่เขาอยากร่วมงานนั้นก็เพราะ ซันอัลลายอันซ์หรือสันติภาพ คือ บริษัทประกันภัยแห่งแรกของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 1710 จึงอยากมาศึกษางานตรงนี้
“ตอนนั้นผมแต่งงานแล้ว ก็ขายรถแล้วขึ้นรถเมล์เอา ใช้ที่นี่เป็นที่ศึกษา เวลาเค้ากลับไป ผมก็ไปเอากรมธรรม์มานั่งอ่าน ด้วยความสนใจส่วนตัว ดูรูปแบบกรมธรรม์ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร”
หลังจากนั้น “พัฒนพงษ์” ก็อยู่กับรอยัลแอนด์ซันฯ มาตลอด 17 ปี ตั้งแต่ยุคที่องค์กรมี 10 กว่าคน จนตอนนี้ 120 คน จากเบี้ย 30 ล้าน เป็น 1,200 ล้าน
“ที่นี่ก็เหมือนเป็นบ้านที่ 2 ตื่นนอนก็มา ไม่เคยไปไหน สมัยก่อนช่วงที่ผมแข็งแรง ผมจะเจอเด็กอยู่ 2-3 คนตอนเช้า ผมจะเป็นหนึ่งในคนที่ถือกุญแจ จะมีเด็ก 2 คนที่มาเช้า คือไม่ผมก็เค้าต้องเป็นคนเปิดประตู เพราะเวลาช่วงกลางวันผมใช้ได้ไม่เต็มที่ ผมจึงใช้เวลาในช่วงเช้าและเย็นทำงานด้วย”
จากตำแหน่งเสมียน “พัฒนพงษ์” สามารถเลื่อนตำแหน่ง ของตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นหัวหน้าสินไหม ผู้จัดการสินไหม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จนขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อปี 2543
นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้
แม้ว่าในการทำงานจะต้องเจอกับ ปัญหาไม่เว้นในแต่ละวัน แต่เขาก็บอกว่า “ไม่เคยตัน” เพราะใช้หลักการรับฟังต้นเหตุของปัญหา
อย่างกรณี 11 กันยา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การสื่อสารกับลูกค้า เพราะลูกค้าเคยชินกับอัตราเบี้ยประกัน ที่ต่ำมาโดยตลอด แต่หลัง 11 กันยา เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า หนทางแก้ไขก็คือ การอธิบายให้ทั้งพนักงาน และลูกค้าเข้าใจ
“พนักงานของเราก็ต้องดูว่า เราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ต้องอธิบายให้พนักงานเรา เข้าใจก่อนว่า ต้นทุนขึ้นสองเท่า ไม่ได้หมายความว่าเราได้เพิ่มสองเท่า แต่นั่นคือที่เราต้องให้รีอินชัวเรอร์ เราต้องรีออก เราต้องรีบชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจ ไม่ปล่อยไว้ เพราะการปล่อยเวลาไว้เนิ่นนาน จะทำให้ปัญหาแก้ยากขึ้น”
งานหนักไม่เป็นปัญหา ทว่าเรื่องสุขภาพ กลับเป็นเรื่องใหญ่เกินคาด
เนื่องจากเมื่อ 16 ปีที่แล้ว “พัฒนพงษ์” ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แม้ว่าหลังจากนั้น เขาจะดูแลรักษาสุขภาพอย่างเข้มงวด มีการนั่งสมาธิวิปัสสนาในช่วง 5-10 ปี ที่ผ่านมา ก็ไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับโรคร้าย อย่างมะเร็งตับได้…
“จริงๆ ผมเฝ้าระวังมาตลอด เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผมเคยเป็นไวรัสบีมา 16 ปี เลยเฝ้ามาตลอด ผมไปตรวจเมื่อเดือนตุลา 44 ไม่เจอ แต่พอเดือนมีนา 45 โผล่มา 6 เซนเลย หากมันเล็กก็ผ่าออกได้ แต่นี่มาแบบไม่ให้โอกาสเลย
ผมก็รักษาโดยการเอาสายยาง สอดเข้าไปทางเส้นเลือดแดง เข้าไปถึงตัวมะเร็งแล้ว ให้เคมีที่ก้อนมะเร็งเลย พอดึงกลับก็ใช้เจลอุดเส้นเลือด ที่ไปเลี้ยงมะเร็ง ทำทั้งให้ยาเคมีและปิดทางให้อาหาร ทำตอนนั้นก็ได้ผลดี จาก 6 เซนเหลือเซนเดียว”
ทว่าหลังจากนั้นเนื้อร้าย แพร่กระจายไปถึงปอด และอยู่ในตับอีก 3 ก้อน “พัฒนพงษ์” บอกว่าโชคดีที่ห้าปีที่ผ่านมา เขาปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด จึงรับปัญหานี้ได้โดยไม่ตกใจ
ขณะที่หากเป็นคนธรรมดาทั่วไป คง “เสียขวัญ” ตั้งแต่ในวินาทีแรก
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่อาจ ย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ และทำให้ต้องเสียใจมาจนทุกวันนี้…นั่นก็คือการแบ่งสมดุลระหว่าง “ชีวิตส่วนตัว” และ “งาน”
“ถึงวันนี้เรามองย้อนไปเราจะรู้ว่าเราโง่ พอเราไม่สบายเนี่ยจะรู้เลยว่า ความสมดุลในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผมขาดความสมดุล ในชีวิตการทำงานมาโดยตลอด ไม่เคยลาพักร้อน เพราะผมรู้สึกว่างานมันสำคัญ และผูกพันกับผมมาตลอด ในชีวิตผมไม่เคยหยุดงานเลย ซึ่งผมบอกได้เลยว่าไม่ดี
หากเราสามารถสร้าง ความสมดุลได้ทั้งในเรื่องการงาน และชีวิตส่วนตัวก็จะเกิดความสุข”
บทเรียนครั้งนี้ทำให้ “พัฒนพงษ์” บอกว่า
“เราต้อง work smart ไม่ใช่ work hard เพราะการสร้างสมดุลระหว่างชีวิต และงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ผมผ่านจุดนั้นมาแล้ว และผมไม่สามารถย้อนอดีตไปได้อีกแล้ว”
อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า ทุกวันนี้สภาพจิตใจของเขา ยังดีเหมือนเดิมทุกอย่างซึ่งส่วนหนึ่งเป็น “อานิสงส์” มาจากการปฏิบัติธรรมในช่วงห้าปีหลัง ที่ทำให้จิตใจของเขาสงบ และผ่อนคลายขึ้นมาก
“ตอนนี้ต้องดูแลตัวเอง ตื่นเช้ามาก็เดินจงกรม สวนลำไส้ ออกกำลังกายครึ่งชั่วโมง ถ้าเราไม่ทำร่างกายให้แข็งแรง เราก็จะไม่สามารถสู้กับมันได้ แล้วก็ฝึกวิปัสสนา ฝึกให้เห็นความเป็นจริงของเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อมีโอกาสก็ไปบรรยายธรรมอีกด้วย
หลักมันมีอยู่นิดเดียว คือ คนเราจะตายเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ ส่วนคนที่รู้ว่าจะตายอย่างผม ผมรู้ว่าจะตายเร็วกว่าคนอื่น อาจอยู่ได้อีกหกเดือนหรือหนึ่งปีถ้าโชคดี
ดังนั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข ผมก็ต้องเลือกความสุข ในช่วงเวลาที่เหลือจะทุกข์ไปทำไม”
“พัฒนพงษ์” บอกว่า เมื่อเขาไปชี้แนะทางให้กับ คนที่เป็นมะเร็งตับ
เขาจะบอกว่า “เวลาคุณเหลือน้อยกว่าคนอื่น แต่ความตายไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญคือ ตอนที่คุณยังไม่ตายจนถึงวันที่กำลังจะตาย คุณจะเลือกเอาแบบไหน ทุกข์หรือสุข คุณเลือกได้”
ทุกวันนี้ “พัฒนพงษ์” บอกว่า เขามีความสุขมากๆ
“บอกได้เลยว่ามีความสุขมากๆ ทุกข์ก็มีบ้างแต่น้อย จะบอกว่าไม่ทุกข์เลยก็โกหก เรามีความสุขในช่วงชีวิตที่เหลือ คือเราได้ทำเวบไซต์ www.arokaya.org เผยแพร่ความรู้ ให้คนอีก 10% ของคนไทยทั่วประเทศได้รู้ตรงนี้
หากได้อ่านข้อเขียนของผม สะกิดใจแค่นิดเดียวอาจจะรอดได้ เช่น บอกว่าตัวอัลฟ่าทอกซิน จะเป็นตัวเร่งคนที่เป็นไวรัสบี เพราะฉะนั้นคนที่เป็นไวรัสบี ไม่ควรกินถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจียว เต้าหู้ยี้ แค่นี้ 5 อย่าง ทำให้ชีวิตเค้ายืนยาวต่อไปได้
คืออย่างน้อยๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเราก็ได้สร้างกรรมดี ก็สบายใจ” เขากล่าวทิ้งท้าย ด้วยน้ำเสียงที่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง…
อ้างอิงจาก
1: http://www.nationejobs.com/content/worklife/worklife/template.asp?conno=497
2: http://www.bangkokbiznews.com/road/20030203/mar34.shtml