Category Archives: วิธีคิด
4 อย่าง ที่ “อย่าหงุดหงิดเลย”
ทำงานอย่างเป็นสุขภายใต้ผู้บริหารไร้หลักการ
ดร.บวร ปภัสราทร
คอลัมภ์นิสต์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หาก ได้ทำงานกับผู้บริหารที่มีหลักการ จะทำสิ่งใดก็รู้ได้ล่วงหน้าว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะมีหลักการบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อรู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ การทำงานก็เป็นไปได้โดยราบรื่น เมื่องานราบรื่นคนทำงานย่อมรู้สึกเป็นสุขไม่ทุกข์ไปกับการทำงานนั้น แต่หากโชคร้ายต้องทำงานภายใต้ผู้บริหารที่ไร้หลักการ จะทำอะไรก็คาดเดาได้ยากว่าทำแล้วถูกหรือผิดกันแน่ และที่แย่ไปกว่านั้น ก็คือ ทำอย่างเดียวกันในวันนี้ ผู้บริหารบอกว่าทำได้ถูกต้อง แต่วันหน้ากลับบอกว่าทำไม่ได้เพราะผิดหลักการ ผู้คนที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ภายใต้ความไร้หลักการเช่นนี้ ย่อมรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอนในการทำงาน ก้าวเดินไปข้างหน้าแต่ละก้าวนั้นอาจจะถูกหรืออาจจะผิด ก็มิอาจคาดเดาล่วงหน้าได้เลย เมื่อมีความไม่แน่นอน การทำงานก็กลายเป็นการสร้างความเครียด ความสุขในการทำงานย่อมไม่มี
หากเราสังเกตดูดีๆ จะเห็นได้ไม่ยากว่าผู้บริหารคนใดมีหลักการหรือไม่มีหลักการในการบริหารงาน ผู้บริหารที่มีหลักการนั้นจะมีตรรกะในการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งตรรกะอันนี้เองที่ทำให้เกิดหลักการที่ชัดเจนในการทำงานขึ้นมา การบริหารงานจึงมีขั้นตอนที่ชัดเจนและแต่ละขั้นตอนในการทำงานจะเป็นเหตุเป็น ผลระหว่างกัน งานใดควรเกิดขึ้นก่อน งานใดต้องเกิดขึ้นตามมา จะมีตรรกะอธิบายได้อย่างชัดเจนจนดูคล้ายกับว่ามีกฎกติกาในการบริหารงานวาง ไว้อย่างชัดเจน ถ้าเข้าใจกฎกติกาในการบริหารงานนี้แล้ว ก็จะสามารถทำงานร่วมกับผู้บริหารได้อย่างสบายใจ
ในทางตรงข้าม ผู้บริหารที่ไร้หลักการนั้นส่วนใหญ่มักใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางในการบริหารงาน แทบทุกเรื่อง ตนเองรู้สึกว่าควรทำอย่างไรก็บริหารงานไปตามความรู้สึกของตน ซึ่งแน่นอนว่า ความรู้สึกของคนเรานั้นปรับเปลี่ยนได้เสมอ วันหนึ่งอาจรู้สึกว่างานนี้ดีสมควรกระทำ อีกวันหนึ่งเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมาก็กลับรู้สึกว่างานเดิมนั้นเป็นงานที่ไม่ ดี ไม่สมควรกระทำ ดังนั้น หากจะว่าไปแล้วผู้บริหารที่ใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นศูนย์กลางในการบริหาร งานนั้น เรียกได้ว่ามีหลักการในการทำงานเช่นเดียวกัน แต่เป็นหลักการที่บอกว่าความคิดความรู้สึกของฉัน คือ กฎกติกาที่ใช้ในการบริหารงานขององค์กรนั่นเอง
ผู้คนที่ต้องทำงานกับผู้บริหารที่ไร้หลักการเช่นนี้ ย่อมทำงานอยู่ภายใต้ความเครียดอันเกิดจากความไม่แน่นอน คือ ไม่รู้ว่าผู้บริหารจะเอาอย่างไรกันแน่ คนใดก็ตามที่ทำงานภายใต้ความไม่แน่นอนนั้น ความสุขในการทำงานหาได้ยากเต็มที
ถ้าต้องการมีความสุขในการทำงานภายใต้ผู้บริหารที่ไร้หลักการ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็นผู้บริหารที่บริหารงานตามความรู้สึก ความชอบหรือความไม่ชอบของตนเองเป็นสำคัญ เราต้องปรับเปลี่ยนความคิดพื้นฐานในการทำงาน จากเดิมที่เคยคิดว่าเราทำงานเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับ องค์กร ให้เปลี่ยนมาคิดใหม่ว่าเราทำงานตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่าสิ่งที่เรากระทำนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ขององค์กรหรือไม่ก็ตาม จากเดิมเคยมองว่าอนาคตขององค์กรจะต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ โดยมองดูจากหลักการที่ผู้บริหารใช้ในการบริหารองค์กร มองดูจากวิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารได้ประกาศไว้ ให้เปลี่ยนมาเป็นเลิกมองอนาคตขององค์กรว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมองไปก็ไม่เห็น เนื่องจากไม่มีหลักการใดๆ ไม่มีวิสัยทัศน์ใดๆ ปรากฏให้เห็นจากผู้บริหารที่ไร้หลักการ เห็นชัดๆ อยู่อย่างเดียว คือ สิ่งที่ผู้บริหารบอกกล่าวให้ทำในแต่ละวันนั่นเอง
ปกติแล้ว ถ้าจะเดินทางไปไหนโดยรู้ที่หมายปลายทางอย่างชัดเจนแล้ว ถ้าเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ความกังวลในการเดินทางก็ไม่มี แต่ถ้าต้องเดินทางโดยที่ไม่รู้จุดหมายปลายทางที่ชัดเจน เดินทางไปก็กังวลไปว่าจะไปถึงไหนกันแน่ การเดินทางเช่นนี้ย่อมไม่มีความสุข แต่ถ้าปล่อยวางไปเสียบ้าง ตัดความกังวลเกี่ยวกับปลายทางออกไปให้หมด เดินทางไปเรื่อยๆ ตามแต่ผู้บริหารจะชี้ให้ไป ความกังวลในการเดินทางย่อมลดน้อยถอยลงไปบ้าง ถ้ายังทำใจไม่ได้ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าจุดหมายปลายทางในการทำงานที่ชัดเจน ภายใต้การบริหารงานแบบไร้หลักการนั้นไม่มี
ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนนิสัยในการทำงานที่ต้องการทราบว่าปลายทางในการทำงานนั้น จะเป็นอย่างไร มาเป็นการทำงานไปวันหนึ่งๆ โดยไม่ใส่ใจที่หมายปลายทางสุดท้าย ทำเช่นนี้ได้เมื่อใดก็จะช่วยให้ลดความทุกข์จากการทำงานภายใต้การบริหารที่ ไร้หลักการได้ในเบื้องต้น แต่ข้อเสีย คือ ทำให้จากเดิมเคยเป็นคนที่ทำงานอย่างมีเป้าหมายชัดเจน กลายมาเป็นทำงานเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ไปวันหนึ่งๆ นั่นเอง
คนดีมีฝีมือมักอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตขององค์กรว่าจะเดินหน้า ไปในทิศทางใด คนดีมีฝีมือทำงานโดยรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสำเร็จใน อนาคตให้กับองค์กร คนดีมีฝีมือจึงต้องการหลักการในการบริหารงานที่ชัดเจนจากผู้บริหาร โดยเฉพาะหลักการที่ใช้ในการกำหนดทิศทางไปสู่อนาคตขององค์กรนั้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับผู้บริหารที่มีหลักการเท่านั้น เพราะมีหลักการที่ใช้สำหรับกำหนดอนาคตร่วมกับผู้คนในองค์กร ผู้คนยอมรับได้นั้นเพราะว่าจะกำหนดอนาคตเป็นอย่างไรก็มีเหตุมีผลอธิบายได้ อย่างชัดเจน แม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องอนาคตขององค์กร ก็มีหลักการที่จะใช้ตกลงกันได้ว่าทิศทางใดเป็นทิศทางสู่อนาคตที่ทุกคนยอมรับ เมื่อได้กำหนดอนาคตขององค์กรร่วมกัน มีการกำหนดหลักการในการทำงานสู่อนาคตนั้นไว้อย่างชัดเจน แต่ละคนก็สามารถทำงานได้โดยราบรื่น
ในทางตรงข้าม ถ้าผู้บริหารใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางในการทำงาน ผู้บริหารย่อมเป็นผู้เดียวที่กำหนดอนาคตขององค์กรโดยไม่มีเหตุผลว่าเหตุใด จึงต้องเดินหน้าองค์กรไปสู่อนาคตในทิศทางนั้น หากจะทำงานอย่างมีความสุขภายใต้สถานการณ์เช่นนี้แล้ว จำเป็นต้องปล่อยวางความรู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตขององค์กรออก ไปให้หมดสิ้น จะไปทางไหนให้เป็นเรื่องของผู้บริหารเป็นคนชี้ทางลงมา แม้ตัวเราอยากจะไปทางตะวันตกเพราะเห็นว่าเป็นทิศทางที่ดี แต่ถ้าผู้บริหารบอกให้ไปทางทิศใต้ ก็ให้เดินทางไปในทิศทางนั้นโดยไม่ต้องใส่ใจว่าถ้าไปทางใต้แล้วองค์กรจะดี หรือจะเลวอย่างไร
ถ้าทำเช่นนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นคนไม่ใส่ใจกับอนาคตขององค์กร ก็ขอให้ทำใจนึกต่อไปว่าเราทำได้ดีที่สุดสำหรับองค์กรเพียงเท่านี้ ภายใต้ความโชคร้ายที่ต้องอยู่กับผู้บริหารที่ไร้หลักการ จะได้ไม่ทุกข์ใจในระหว่างที่ต้องทำงานภายใต้ผู้บริหารแบบนี้
ref: http://www.bizhubweb.com/hr/03/03/2009/1411