ครั้งที่เข้าคอร์สอบรมเรื่อง ไทเก๊กกับธาตุทั้ง 5 ของ อาจารย์ ฌานเดช พ่วงจีน ซึ่งตอนนั้นอาจารย์พูดถึงเรื่อง จุดตันเถียน (หรือในโยคะ เรียกว่า จุดจักระ) เป็นจุดเก็บพลัง ซึ่งจุดใหญ่ๆ จะมี 3 จุดคือ
1. ตันเถียนบน อยู่ระหว่างคิ้ว จะเป็นฐานควบคุมความคิดและปัญญา
2. ตันเถียนกลาง อยู่แถวๆ หัวใจ จะควบคุม จะเป็นฐานควบคุมอารมณ์จิตใจ
3. ตันเถียนล่าง อยู่ที่บริเวณท้องน้อย เป็นฐานควบคุมสุขภาพร่างกาย
(หมายเหตุ – บางตำราอาจจะบอกตำแหน่งไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ขอให้ลองค้นข้อมูลกันอีกที)
หากจุดใดจุดหนึ่งบกพร่อง จะทำให้ร่างกายเสียสมดุล ทำให้มีโรคมาเยือน ไม่ว่าจะโรคทางกาย หรือทางใจ
อาจารย์บอกไว้ว่า สิ่งที่ควรทำให้สมบูรณ์ที่สุดอันดับแรกคือ ฐานกาย ซึ่งตอนนั้นผมเอง ในใจลึกๆ ก็ยังแย้งอยู่ว่าทำไมไม่ทำให้ใจบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียก่อน เนื่องจากเราไปมองถึงเรื่องความสำคัญของ สติ สมาธิ ปัญญา
ช่วงหลังๆ ลองสังเกตุตัวเองเวลาดูลมหายใจเข้าออก มักจะชอบฝืนธรรมชาติอยู่บ่อยๆ แต่บางครั้งก็รู้สึกแน่แล้วว่าไม่ได้ฝืนอะไรมัน เพียงแค่ดูจริงๆ แต่ก็พบว่าที่ยังรู้สึกขัดๆ เป็นเพราะว่าหายใจไม่สะดวกนัก (ปกติไม่ค่อยมีเวลานั่งทำสมาธิ เลยใช้วิธีการนอนทำ ก่อนที่จะหลับ) ลองพลิกซ้าย พลิกขวา หรือจัดท่าให้สบายๆ ก็ยังเป็นอยู่
ด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า อาจารย์พูดถูกนี่หว่า ถ้ากายไม่สมบูรณ์ ใจก็ไม่สมบูรณ์ (เหมือนโฆษณาไมโล – กายพร้อม ใจพร้อม เราทำได้) เมื่อใจไม่สมบูรณ์ ปัญญาก็ไม่เกิด
อืมม เข้าใจแน่แล้ว ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรดูแล คือ ร่างกาย นั่นเอง ซึ่งรายละเอียดตรงนี้เรื่องของการดูแลฐานกาย หรือตันเถียนล่าง คงจะมีมากมายก่ายกอง
มาถึงจุดนี้ ผมไม่มีความรู้มากนัก แต่ต้องการรู้ ก็ขอมัดมือชก ฝากให้พี่หมอเชน ซึ่งเป็นว่าที่หมอจีนคนที่ผมสนิทมากคนหนึ่ง (คนสนิทกันต้องช่วยกันใช่ไหม) ช่วยเผยแพร่ การดูแลฐานกาย (ตันเถียนล่าง) เมื่อใดที่พี่หมอเชนเขียนเรื่องนี้ ผมจะนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปครับ