“…ตามหลักศาสนานั้น ให้สิ่งใด ย่อมได้รับสิ่งดีมากอีกร้อยเท่าพันเท่า อย่าเชื่อว่า ถ้าบริจาคดวงตา จะทำให้ตาพิการ บริจาคแขนขา จะทำให้เสียส่วนนั้น ส่วนนี้ไป ถ้าให้แล้วจะมีผลออกมาเป็นความสมบูรณ์ ยิ่งให้ส่วนใด ของตนไป ความสมบูรณ์ จะมาเกิด…ตรงกันข้าม กับคนที่หลอกว่าให้ตาแล้ว จะไม่มีดวงตา ให้อวัยวะไปแล้ว จะพิการส่วนนั้นพิการส่วนนี้ เป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ถูก เพราะถือว่า เป็นอุกฤษฎ์บารมี เป็นทานชั้นสูง เป็นปรมัตถ์ทาน ทานที่ บริจาคได้แม้กระทั่ง อวัยวะ เลือดเนื้อ ชีวิต ซึ่งถือ เป็นทานสูงสุด เป็นคนใจสูง เท่านั้นที่จะทำได้”
พระพิศาลธรรมพาที (พระพยอม กัลยาโณ) วัดสวนแก้ว
(รายการความรู้คือประทีป สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ๑๒ เม.ย.๒๕๓๗)
“…โดยพื้นฐานความเข้าใจว่า ชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับพระเจ้า และมาจากพระเจ้า พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์มา จึงเป็นกรรมสิทธิ์ชีวิตมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้เป็นเจ้าของตัวเอง เป็นข้อแรกที่สำคัญ ข้อที่สองคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับพระเป็นเจ้า และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อพูดถึงเรื่องการบริจาคอวัยวะขอแบ่งเป็น ๒ ตัวอย่าง คือ ขณะที่มีชีวิตอยู่ โดยหลักการเราทำไม่ได้ เพราะเป็นการทำให้ร่างกายเราพิการไป แต่ทำได้เพื่อความดี เพื่อช่วยเหลือชีวิตของคนอื่นให้รอด ส่วนอีกกรณีที่เมื่อเสียชีวิตไป การอุทิศชีวิตของตัวเองเพื่อการแพทย์ จะได้นำอวัยวะของเรา ไปช่วยชีวิต ของเพื่อน มนุษย์คนอื่น ที่รอรับอวัยวะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่โดยธรรมเนียมของคาทอลิก จะเชื่อคำสอนที่ว่า เมื่อตายแล้วจะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ โดยธรรมเนียมและการปฏิบัติเราไม่ได้ส่งเสริม และทำในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการตายและฝังตามปกติ ในสมัยนี้เมื่อการแพทย์เจริญขึ้น สามารถที่จะตัดต่อ หรือทำให้อวัยวะของเราเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ก็คิดว่า เรื่องคำสอน ของศาสนาคาทอลิก สามารถที่จะทำได้ เป็นการอุทิศร่างกายของเรา ให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น เป็นการต่ออายุผู้อื่นให้มีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต”
บาทหลวงวรยุทธ กิจบำรุง ร.ร.อัสสัมชัญ บางรัก
(รายการความรู้คือประทีป สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ๑๒ ก.ย.๒๕๓๗)
“…การเกิดใหม่ไม่ได้เอาร่างกายไป…ร่างกายในภพนี้ไม่เป็นตัวเอื้อเกิดในภพหน้า แต่เป็นสภาวะของจิต สภาวะของจิตเป็นอำนาจที่จะส่งไปเพื่อที่จะปฏิสนธิใหม่ ถ้ามีโอกาส ที่จะเกิดใหม่ด้วยกุศลจิต เป็นจิตที่มีความเยือกเย็น จิตที่มีความสุขกับการให้ เป็นจิตที่ เต็มเปี่ยม ที่ทำให้การเกิดครั้งใหม่ มีอวัยวะครบถ้วนและงดงามด้วยจิตใจ…” “ลองถามความรู้สึกของเราดูว่า ถ้าเห็นอวัยวะที่สำคัญของบุคคลที่เรารัก ยังเติบโต และใช้การได้ดีในชีวิตของคนอีกคน จะไม่เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจของคนที่ยังอยู่หรือ เมื่อเรา ได้เห็นว่าชีวิตของท่านไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เป็นลูกเป็นเพื่อนของเรา คือเขายังอยู่ คนที่เรารัก ยังอยู่ ในชีวิตของคนอีกคนหนึ่ง ความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร เราต้องถามตรงนี้ให้ดี และเราถึงจะรู้ ว่าการให้ไม่ใช่การสูญเสียแต่เป็นการได้มา”
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน
(รายการกฎแห่งกรรม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ ๑๗ ส.ค.๒๕๓๗)
———————————————————————
การอุทิศอวัยวะ จะต้องทำอย่างไร ?
การอุทิศอวัยวะจะต้องแสดงความยินยอมขณะที่ยังมีชีวิตอยู่โดยการกรอกใบแสดงความจำนง
บริจาคอวัยวะหรือญาติจะเป็นผู้แสดงความยินยอมมอบอวัยวะนั้นเพื่อเป็นทานให้กับศูนย์รับบริจาค
อวัยวะสภากาชาดไทย บุคคลที่ต้องการบริจาคอวัยวะควรมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดในการบริจาค
ข้อกำหนด ในการบริจาคอวัยวะ
1. ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
2. เสียชีวิตจากภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ
3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
5. อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
การแสดงความจำนง ในการบริจาคอวัยวะ
1. กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน ที่อยู่ควรจะตรงกับทะเบียนบ้าน (หากต้องการให้ส่งบัตรประจำตัวไปยังสถานที่อื่น กรุณาระบุ)
2. เมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยะฯ ได้รับข้อความแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้
4. หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร
5. กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาดไทย
กรุณาแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบก่อน…
บริจาคอวัยวะคลิกที่นี่
อ้างอิงจาก ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย