Category Archives: ไทเก๊ก

ความอ่อนนุ่มย่อมยืนยาว

923001_10152825790035644_1342480560_n

อาจารย์สอนไทเก็กผมบอกว่า
คนที่จะมีอายุยืนยาวสุขภาพดี ไม่ใช่คนที่ร่างกายกำยำ
แต่เป็นคนที่ยังมีร่างกายยืดหยุ่น

เพราะความติดขัดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เป็นสิ่งที่ทำให้พลังชีวิต หรือแร่ธาตุไหลเวียนไม่ดี
และก็จริงดังว่า ผมสังเกตคนรำไทเก็กแก่ๆ ที่ยังยืดเส้นได้ดี
มักจะแข็งแรง ร่าเริง และกระฉับกระเฉง ไม่ป่วยออดๆแอดๆ
ถ้าไปเทียบกับลัทธิเต๋า ความอ่อนนุ่มย่อมยืนยาว
เหมือนลิ้นที่ไม่ร่วงดังฟันเมื่ออายุมาก ต้นหญ้าที่ไม่โค่นดังต้นไม้เจอพายุ

Share

รำไทชิ ชี่กง ฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเรื้อรัง


การรักษาด้วยยาอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากการใช้ยาแบบพ่นเข้าปากเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมักป่วยด้วยโรคดังกล่าว วิธีรับมือที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการกำเริบ รวมไปถึงการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของปอด ก็จะช่วยให้อาการกำเริบลดลง

ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า วิธีของแพทย์ตะวันตกนิยมให้ออกกำลังกายที่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อทุกส่วน เช่น วิ่งลู่ ปั่นจักรยาน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เมื่อออกกำลังกายด้วยวิธีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 20-30 นาทีต่อวัน จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ ทำให้อาการกำเริบลดน้อยลง

แต่สำหรับประเทศไทยวิธีดังกล่าวกลับไม่เป็นผลนัก ศ.พญ.สุมาลี อธิบายว่า ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยใช้วิธีดังกล่าวในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมาก่อน แต่ผู้เข้าร่วมน้อย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ บางทีวิ่งลู่แล้วมักจะหกล้ม และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงพยายามวิจัยวิธีออกกำลังกายแบบใหม่ที่สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ สุดท้ายคือการออกกำลังกายด้วย “ไทชิ ชี่กง”

“ไทชิ ชี่กง เป็นการนำเอาท่ารำไทเก๊กของจีน 9 ท่า ซึ่งมีข้อดีคือเป็นการออกกำลังกายที่อาศัยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อทุกส่วนแบบช้าๆ มาผสมผสานกับการใส่วิธีการหายใจที่ถูกต้องตามอย่างแพทย์ตะวันตก ทำให้เหมาะสมกับคนทุกวัย ที่สำคัญสามารถทำได้เองที่บ้านหรือทำพร้อมกันเป็นกลุ่มได้” ศ.พญ.สุมาลี กล่าว

สำหรับท่ารำไทชิ ชี่กง ทั้ง 9 ท่านั้น ศ.พญ.สุมาลี อธิบายว่า ท่ารำไทเก๊กมีจำนวนมาก จึงได้คัดเลือกท่าที่ง่ายต่อการใส่ลมหายใจประกอบมา 9 ท่า เพื่อทำการวิจัยและทดลอง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงประสบความสำเร็จ โดยแต่ละท่าจะมีการกำหนดลมหายใจ และต้องทำซ้ำกันไปมาวันละประมาณ 20-30 นาที จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์

“จากการศึกษาในผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวพบว่า ผู้ป่วยมีการเผาผลาญออกซิเจนน้อยลง มีปริมาตรการหายใจเพิ่มขึ้น สามารถออกกำลังกายสูงสุดได้มากขึ้น ปอดหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เป็นต้น โดยรพ.รามาฯได้นำไทชิ ชี่กงมาใช้ในการบริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2550 พบว่าอัตราคนไข้อาการกำเริบลดลง 26-27% ขณะที่การป่วยฉุกเฉินลดลงถึง 50% แม้จะหยุดออกกำลังกายก็พบว่าสามารถช่วยคงสมรรถภาพของปอดไปได้นานประมาณ 6 เดือน” ศ.พญ.สุมาลี กล่าว

นอกจากโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ล่าสุดพบว่า มีอีกหลายโรงพยาบาลที่นำ “ไทชิ ชี่กง” ไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ศ.พญ.สุมาลี เล่าว่า เนื่องจากได้ไปนำเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีความสนใจ โดยได้ทำเป็นซีดีไกด์ไลน์ให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆในการนำไปบริการรักษาผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ แต่สปสช.มีค่าตอบแทนให้แก่หน่วยบริการหากสามารถลดอัตราการป่วยหรือการกำเริบได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเปิดการสาธิตการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ไทชิ ชี่กง ให้แก่ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่เวลา 07.00-12.00 น. ซึ่งภายในงานจะมีการทดสอบสมรรถภาพปอด การเป่าเครื่องวัดอัตราลมหายใจออกสูงสุด การสอนวิธีการใช้ยาสูดพ่น และเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ที่มา: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000136865

Share

สมดุลแห่งชีวิต

“เต๋าที่อธิบายได้นั้น มิใช่เต๋าที่แท้จริง”
ขยายความได้ว่า เต๋าอธิบายไม่ได้ เต๋าไม่มีตัวตน เต๋ามีก่อนสิ่งอื่นๆ
มีก่อนจักรวาลจะเกิด เต๋าว่างเปล่า!

ถ้าเต๋าอธิบายได้ว่าเต๋าคืออะไร แปลว่าเต๋าจะถูกจำกัดความว่ามีแค่นั้น
เต๋า คือ ทุกสิ่ง แปลว่ามันคือทุกสิ่ง
เต๋า คือ จักรวาล แปลว่าเต๋าคือจักรวาล
เต๋า คือ ธรรมชาติ แปลว่าเต๋าคือธรรมชาติ

หากลองแทนคำว่าเต๋าเป็นคำว่าธรรมหรือนิพพาน ก็จะได้ประโยคเหมือนกัน

หากจะอธิบายให้เข้าใจแบบคนปัจจุบันที่ยังลุ่มหลงแบบเราๆ ท่านๆ
รักที่อธิบายได้นั้น มิใช่ รักที่แท้จริง
ขยายความได้ว่า รักอธิบายไม่ได้ รักมันไม่มีตัวตน

ถ้ารักอธิบายได้ว่ารักคืออะไร แปลว่ารักจะถูกจำกัดว่ามีแค่นั้น
รัก คือ ความคิดถึง แปลว่ามันคือความคิดถึง
รัก คือ ความ คิดถึงและห่วงใย แปลว่ามันคือคิดถึงและห่วงใย
รัก คือ รู้สึกดีต่อกัน แปลว่ามันคือความรู้สึกดีต่อกัน

ขยายความแบบนี้น่าจะเข้าใจกันได้ง่ายดีนะครับ 😀

ในโลกเราตอนนี้มองแต่ด้วยตาของบุคคลผู้รู้จักแต่วัตถุนิยม
เรารู้จักแต่วัตถุด้วย แล้วก็รู้จักแต่จะนิยมวัตถุด้วย
เป็นความรับรู้แบบหยาบๆ ที่ไม่เข้าถึงความลึกซึ้งของจิตวิญาณ
เหมือนเด็กอมมือที่รับรู้เท่าที่ตัวเองเห็นและฟัง

เพราะเราถูกสะสมเป็นความทรงจำในสมองผ่านการ ดู ฟัง ดม กิน สัมผัส
ว่าสิ่งนี้สวย ไพเราะ หอม อร่อย นุ่ม

เท่านี้ไม่พอ เรายังถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่า กำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยชื่อ
เช่น เสียงแบบนี้เรียกว่าเพลงโอเปร่า รสชาติแบบนี้เรียกว่าพิซซ่า หน้าตาแบบนี้เรียกว่าผู้หญิง

และเราก็ถูกกำหนดต่อในชั้นที่สามว่า เพลงแบบนี้เพราะ แบบนี้ไม่เพราะ
รสชาติแบบนี้อร่อย แบบนี้ไม่อร่อย หน้าตาแบบนี้สวย แบบนี้ไม่สวย

เราเจอการกำหนดสิ่งหนึ่งถึงสามชั้น!
ไม่แปลก ที่เราจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าที่แท้แล้วสิ่งนั้นคืออะไร

แ่ต่ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ล้วนแต่เป็นธรรมชาติทั้งสิ้น
หน้าต่าง ที่ทำจากโลหะ เกิดจากเหล็ก มาจากดิน
เตียง เกิดจากไม้ มาจากดิน มาจากน้ำ
เรา เกิดจากแม่ มาจากอสุจิพ่อ มาจากเลือด มาจากอาหาร จากแร่ธาติ จากน้ำ
พลาสติก เกิดจากการสังเคราะห์ เกิดจากน้ำมัน เกิดจากซากสัตว์ เกิดจากเนื้อหนัง เกิดจากแม่ มาจากอสุจิพ่อ มาจากเลือด มาจากอาหาร จากแร่ธาติ จากน้ำ

ผมนั่งจับต้องลูบคลำประตู กระเบื้อง แขนขา เหมือนคนบ้าอยู่พักใหญ่ๆ
ก็เพิ่งมองภาพได้ชัดเจนว่า ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ มาจากธรรมชาติ
เพียงแต่ถูกแปรเปลี่ยนรูปร่างแตกต่างกันออกไป
สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ เพราะมันต้องแปรเปลี่ยนไปตามความสมดุลของธรรมชาติ
จนค่อยๆ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลายการแปรเปลี่ยนเราก็กำหนดไว้ว่า มันเรียกว่าการดับไปของสิ่งนั้น

ผมไม่แปลกใจแล้วหละ ว่าทำไม มหาบุรุษคนหนึ่งเมื่อ 2600 ปีก่อน นั่งใต้ต้นไม้และสามารถรู้ทุกอย่างในจักรวาล และมหาบุรุษนั้นเรามอบชื่อให้แก่ท่าน เพื่อให้เข้าใจเหมือนกันทั้งโลกว่า “พระพุทธเจ้า”
พระพุทธเจ้า ไม่รู้หรอกว่าโลกเราอยู่บนกลุ่มดาว ที่คนปัจจุบันกำหนดเรียกมันว่า ทางช้างเผือก
พระพุทธเจ้า ไม่รู้หรอกว่า กลุ่มดาวที่เราอยู่ อยู่ในกลุ่มดาวกว้างใหญ่มหาศาล ที่คนปัจจุบันกำหนดเรียกว่า จักรวาล
ผมเชื่อว่า พระพุทธเจ้า พระองค์รู้จักสิ่งที่ไม่มีอันสิ้นสุดเกินจักรวาลออกไป ได้จากภายในตัวของท่านเอง

เพราะตัวของเราเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นต้นไม้ มดเป็นธณรมชาติ จักรวาลเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นจักรวาล
ว่าแต่ แล้วอะไรล่ะที่ใหญ่ไปกว่าจักรวาล ผมไม่สามารถบอกได้ ใครก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะปัญญามนุษย์ยังสำรวจไม่พบ
จึงไม่ีใครตั้งชื่อ หรืออาจจะมีตั้งชื่อ แต่ผมไม่รู้

แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร สิ่งๆ นั้น ไม่มีตัวตน อธิบายไม่ได้ มีก่อนสิ่งอื่นๆ มีก่อนจักรวาลจะเกิด และว่างเปล่า!

ดังนั้นสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แปรเปลี่ยนรูปร่างต่างกันไป
สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ เพราะมันต้องแปรเปลี่ยนไปตามความสมดุลของธรรมชาติ
จนค่อยๆ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลายการแปรเปลี่ยนเราก็กำหนดไว้ว่า มันเรียกว่าการดับไปของสิ่งนั้น

ถ้าสรุปแบบธรรมะผสมเต๋า ก่อนหน้าทุกอย่างว่างเปล่าแล้วจึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่และแปรเปลี่ยนจนมันดับไปเป็นว่างเปล่าอีกครั้ง

ดังนั้น หากเข้าใจแนวทางการรักษาสมดุลของธรรมชาติ
ก็จะเข้าใจ แนวทางการรักษาสมดุลของร่างกาย
และจะเข้าใจแนวทางการรักษาสมดุลของสิ่งต่างๆ
เพราะธรรมชาติและร่างกายและทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสิ่งเดียวกัน
คอยสนับสนุนหักล้างซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ความว่างเริ่มมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาทดแทน

ถ้าเปรียบเทียบสัตว์ หมายังมีความสมดุลเป็นธรรมชาติมากกว่ามนุษย์เสียอีก..
เช่น รูปแบบ (pattern) ของหมา ถูกกำหนดมาว่า นอนเพราะเหนื่อย กินเพราะหิว ถึงฤดูจึงผสมพันธุ์ ดุร้ายเมื่อต้องป้องกันตัว

แต่มนุษย์มีความคิด ที่หลากหลายไม่จำกัดเหมือนหมา รูปแบบจึงซับซ้อนกว่า และหลดจากความเป็นสมดุลได้
เช่น อาจจะนอนเพราะเหนื่อย ขี้เกียจ ไม่มีอะไรทำฯลฯ กินเพราะหิว อยาก ลองฯลฯ ดุร้ายเพราะป้องกันตัว อันทพาล หาเรื่อง ไม่มีอะไรทำฯลฯ

แล้วกระนั้น ความซับซ้อนใน รูปแบบ (pattern ) ดังกล่าวของมนุษย์ ถูกกำหนดลงไปอีกมากมาย เช่น
ถูกศาสนากำหนดว่า ดีหรือชั่ว อันนี้ก็แล้วแต่คำสอนของศาสนานั้นๆ
ถูกกำหนดด้วยกฏหมายว่า ถูกหรือผิด อันนี้ก็แล้วแต่สังคมแวดล้อมของคนๆ นั้นอยู่
ถูกประเพณีกำหนด ถูกพ่อแม่กำหนด ถูกเพื่อนกำหนด ต่างๆนานาๆ

เลยทำให้ความเป็นมนุษย์มากมายหลากหลายรูปแบบ โชคร้ายก็สูญเสียความสมดุลอันเป็นธรรมชาติไป โชคดีก็ได้พบแนวทางค้นหาความเป็นสมดุลอันเป็นธรรมชาติ

เพียงเพราะเราถูกกำหนดมันจากภายนอก แล้วเราก็ไปหลงสิ่งภายนอก แถมยกย่องสิ่งภายนอกตัวเราอีกต่างหาก
โดยที่เราไม่ได้มองกลับเข้ามาหาตัวเองว่า ความสุขอยู่ที่เรา ความทุกข์อยู่ที่เรา ความใคร่อยู่ที่เรา ความอยาก สมดุลอยู่ที่เรา
เพียงแค่เราเฝ้ามองตัวเอง นั่งฟังสิ่งที่ตนเองเรียกร้องเงียบๆ โดยปราศจากความคิดไปเอง ความฟุ้งซ่าน แล้วผมเชื่อว่าเราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าความสมดุลอันเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมะ ความเป็นเต๋า จักรวาล ชีวิต มันเป็นอย่างไร

สิ่งที่ผมเขียนมา ผมอยากจะบันทึกไว้เตือนตัวเอง และเป็นข้อคิดให้แก่ทุกๆ ท่าน ไม่ได้ต้องการเขียนให้สวยหรู แต่ต้องการบันทึกเพื่อให้ตัวเองกลับมาอ่านอีกครั้ง และรู้สึกเกิดปัญญาเข้าใจอีกครั้ง ในอนาคตที่อาจจะมีโอกาสหลงผิด และเสียสมดุล

หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจนะครับ 😀

ขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ท่านพุทธทาส ที่ทำให้เกิดปัญญาเพียงแค่อ่านได้ 47 หน้า ผ่านหนังสือ “สรรนิพนธ์ พุทธทาส ว่าด้วย เต๋า”

ปล1. สังเกตุว่า หลายๆ เนื้อหาเขียนใช้ข้อความซ้ำ เพราะมันคือสิ่งเดียวกัน
ปล2. สังเกตุว่า ตอนต้นและตอนจบ เหมือนกัน เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน
ปล3. สังเกตุว่า แนวคิดเหมือนกันหมดแต่เขียนหลายแบบ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน
ปล4. แม้กระทั้ง ปล. 1 ถึง ปล.3 มันก็ยังเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกกันได้
ปล5. สรุปความเป็น บล็อกนี้ได้จาก บทความนี้

Share